ปตท.ก้าวสู่ยุควิสัยทัศน์ใหม่ ปรับองค์กรสู่การเป็นบริษัทพลังงานรูปแบบใหม่รับ 6 เทรนด์มาแรง

18 มี.ค. 2564 | 06:56 น.

ปตท.ปรับพอร์ตธุรกิจ รับ 6 เทรนด์ใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ย้ำวิสัยทัศน์ใหม่ก้าวสู่การเป็นองค์กรพลังงานรูปแบบใหม่ถอดด้าม พร้อมพบปะพนักงานสื่อสารวิสัยทัศน์ 25 มี.ค.นี้

นายอรรถพล ฤกษพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลบน แอปพลิเคชัน ClubHouse วันพุธที่ 17 มี.ค. เวลา 20.30 ภายใต้หัวเรื่อง “CEO โซเซ, Just Say So” คุยกับ CEO หลังโควิดธุรกิจเอาไงต่อ ที่จัดตั้งกลุ่มขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ปตท.เตรียมพบปะพนักงาน เพื่อสื่อสารวิสัยทัศน์ใหม่ จากเดิมคือการเป็น “thai premier league multinational energy company” จะเปลี่ยนเป็น “powering life with future energy and beyond” หลังใช้วิสัยทัศน์เดิมมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และปัจจุบันได้บรรลุเป้าหมายหมดแล้วทั้งการเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปมูลค่าสูงและทำธุรกิจที่ติดอันดับโลก 

นายอรรถพล ฤกษพิบูลย์

สำหรับวิสัยทัศน์ใหม่จะเน้นที่ตัว powering life คือการเป็นองค์กรที่ให้พลังกับผู้คนและกับประเทศชาติ ซึ่งวิสัยทัศน์นี้จะสะท้อนตัวตนของปตท.ที่จะก้าวต่อไปในอนาคต ซึ่งในปีนี้(2564) ปตท.จะพยายามทำเรื่องใหม่ๆให้กับกลุ่ม ปตท.และประเทศ หลังจากที่บริบทต่างๆเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น รถอีวี กำลังจะเข้ามาขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปกำลังจะหมดไป แล้วประเทศไทยจะทำอย่างไร ในด้านต่างๆ ที่จะรองรับ สิ่งที่จะถดถอยจะทำอย่างไร ซึ่งตอนนี้ ก็จะต้องมานั่งทำงานร่วมกันและประสานงานกับภาครัฐในการดึงเรื่องการลงทุนใหม่และสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆให้กับประเทศ

 

“ดับเบิ้ล เอฟเฟคท์”ที่ผ่านพ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ถือเป็น “ดับเบิ้ล เอฟเฟคท์” ของปตท. เพราะนอกจากจะต้องพบกับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ยังต้องเจอปัญหาสงคราม ราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตกต่ำไปอยู่ระดับ 13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กระทบต่อวงการพลังงาน แต่ในทุกวิกฤตจะมีอยู่ 2 อย่าง คือปัจจัยที่ “ควบคุมได้” และ "ควบคุมไม่ได้" ดังนั้นจึงกลับมาโฟกัสกับสิ่งที่ควบคุมได้ เพื่อให้ปตท.ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ด้วยการจัดทำแผนลดต้นทุน จัดลำดับการลงทุนใหม่ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมเสริมสภาพคล่อง ด้วยการออกหุ้นกู้ 30,000 ล้านบาท และอีก 700 ล้านดอลลาร์ ในปี2563 เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผน synergy สร้างพลังร่วมทั้งกลุ่มปตท. โดยเฉพาะใน 3 โรงกลั่นเครือปตท. ได้ synergy ร่วมกันในการกลั่นน้ำมันเครื่องบิน เพราะห่วงที่โควิด-19 ระบาดส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินหายไป 90% ทั้ง 3 โรงกลั่นจึงปรับกระบวนการกลั่น ทำให้กลั่นน้ำมันเครื่องบินเพียงโรงกลั่นเดียว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2563 ทำให้ในช่วงไตรมาศแรกปี63 เป็นไตรมาสเดียวที่มีผลประกอบการขาดทุน นับจากที่ปตท.เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะที่ทั้งปี 2563 ปตท.สามารถกลับมาทำกำไรได้ที่ระดับ 37,000 ล้านบาท โดยหากเทียบกับบริษัทพลังงานข้ามชาติ เช่น เชฟรอนฯ ปิโตรนาส ก็เผชิญกับผลประกอบการติดลบ  แต่จะเห็นว่า ปตท.ยังแข็งแกร่งดีอยู่

นอกจากนี้ ปตท.ในฐานะที่เป็นองค์กรใหญ่ยังจำเป็นต้องดูแลซัพพลายเชน และซัพพลายเออร์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ โดยได้มีการยืดหนี้เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ พร้อมจัดทำ โครงการ “Restart Thailand” สร้างการจ้างงาน ประมาณ 20,000 อัตรา ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากผลกระทบโควิด-19 ในด้านต่างๆ

ปตท.ก้าวสู่ยุควิสัยทัศน์ใหม่ ปรับองค์กรสู่การเป็นบริษัทพลังงานรูปแบบใหม่รับ 6 เทรนด์มาแรง

6 กลุ่มธุรกิจใหม่ตอบโจทย์เทรนด์ใหม่

ดังนั้น แม้โควิด-19 จะส่งกระทบต่อทั่วโลก แต่หลังจากเริ่มคลี่คลายลงแล้ว ปตท.เองก็จะเตรียมพร้อมเดินหน้าต่อ โดยได้จัดตั้งทีม Reimagine เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรรองรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่ง ปตท.ก็ได้จัด พอร์ตลงทุนธุรกิจใหม่ใน 6 ด้านที่เป็นเทรนด์ใหม่ หรือ กระแสใหม่  ได้แก่

1. New Energy

2. Life Science

3. Mobility & Lifestyle

4.High Value Business

5. Logistics & Infrastructure

6. AI & Robotics Digitalization

 

ในส่วนของ ธุรกิจ New Energy หรือ พลังงานใหม่ ปตท.ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า แตะ 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 การจับมือพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อมุ่งเข้าสู่ธุรกิจจพลังงานแห่งอนาคต เช่น การพัฒนาสถานีชาร์จพลังงานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Changer Platform และ EV Station ,การจัดตั้งบริษัท SWAP & GO เพื่อลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วน ธุรกิจ Life Science ได้ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนเริ่มก่อสร้างปี 2565 ,การจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) เพื่อลงทุนธุรกิจ Life Science ซึ่งในระยะต่อไปนี้ ก็อาจจะเห็นการปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A)ออกมามากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังร่วมกับกรมการแพทย์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุปิดแผลชนิดไบโอเซลลูโลสคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล

ธุรกิจ Mobility & Lifestyle จะมี OR เป็นหัวหอกหลัก เข้าไปทำเรื่องใหม่ๆ เช่น คลาวด์คิทเชน ก็ได้ร่วมมือกับไลน์แมน ( LINE MAN) จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ซึ่งเปิดดำเนินการสาขาแรกไปแล้ว

ธุรกิจ High Value Business จะเน้นเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เป็นสเปเชียลตี จากการนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปต่อยอดผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

ธุรกิจ AI & Robotics Digitalization ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ. ก็มีการจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มีการผลิตหุ่นยนต์และโดรน เพื่อเข้ามาเสริมรายได้ทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้เข้าไปลงทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านการลงทุนกองทุน (Venture Capital :VC) ในต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงตั้งทีมงานส่งเข้าไปประกบกองทุนต่างๆ เพื่อมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนตรงในบริษัทสตาร์ทอัพด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปตท.สผ. พบก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่โครงการซาราวักเอสเค 417

ปตท.หนุนจุฬาฯ 20 ล้าน ลุยพัฒนาวัคซีนสู้โควิด

“OR” ซื้อหุ้น 20% “โอ้กะจู๋” เล็งขยายสาขาในปั๊ม ปตท.-เสิร์ฟ Grab & Goผ่านอเมซอน

หุ้นกลุ่มปตท.บวกยกแผง รับอานิสงส์น้ำมันพุ่ง

เชฟรอนส่งมอบแหล่งเอราวัณให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่