อำนาจรัฐกับความชอบธรรมทางการเมือง

03 มี.ค. 2564 | 08:38 น.

อำนาจรัฐกับความชอบธรรมทางการเมือง : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3658 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4- 6 ก.พ.2564 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

วันนี้ขอเปิดตำรารัฐศาสตร์ศึกษาหาความรู้ ว่าด้วยเรื่องอำนาจรัฐของผู้ปกครอง กับความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อหาคำตอบให้กับตนเองสักหน่อยครับ เพราะขณะนี้ สถานการณ์ในบ้านเมืองของเรา ดูเหมือนว่ากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าวสูงขึ้นโดยลำดับ แม้ว่าประเทศจะฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 มาได้ด้วยดี แต่ความคุกรุ่นทางการเมือง อันเนื่องมาจากความคับแค้นข้องใจของประชาชน ในการได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง การยึดกุมอำนาจรัฐของรัฐบาล 3 ป. และพฤติกรรมในการบริหารบ้านเมือง ด้วยองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี ที่เต็มไปด้วยพรรคและนักการเมือง ที่ประชาชนเคยร้องยี้มาก่อน มาสุมหัวรวมกันยึดกุมอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้นั้น ยังไม่เป็นที่พอในหรือประทับใจแก่ประชาชนผู้ถูกปกครองสักเท่าใดนั่นเอง 

ยิ่งเมื่อได้เห็นบรรยากาศการเมือง การวิ่งเต้นแก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างลง ในรัฐบาลประยุทธ์ ของกลุ่มและก๊กการเมืองต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ก็ยิ่งเป็นปัญหาขึ้นสู่กระแสสูง คุกคามต่อเสถยีรภาพของรัฐบาล 

ครูอาจารย์ผู้รู้ทางรัฐศาสตร์ อันเป็นวิชาความรู้และศิลปวิทยาการทั้งหลาย ในการจัดการบริหารเกี่ยวกับอำนาจรัฐ การปกครองประเทศ และประชาชนนั้น มักเตือนและสอนอยู่เสมอว่า ในทางรัฐศาสตร์ ความชอบธรรมคือ การที่อำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายซึ่งใช้บังคับหรือระบอบการปกครองนั้น ได้รับการยอมรับจากประชาชน นั่นคือ ความชอบธรรมต้องมาจากสิ่งที่ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง ประทานให้แก่ผู้ปกครองเท่านั้น และผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย จะต้องกระทำการทั้งหลายด้วยการใช้อำนาจที่เหมาะสม 

ในทางนิติศาสตร์ "ความชอบธรรม" ต่างจาก "ความชอบด้วยกฎหมาย" เพราะการกระทำๆ ของผู้ปกครองอาจชอบด้วยกฎหมาย แต่อาจไม่ชอบธรรมก็ได้ เช่น กรณีที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บัญญัติให้ หัวหน้า คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 ที่สามารถใช้อำนาจได้ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยคนคนเดียว หรือ กรณีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 บัญญัติให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และให้มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แม้จะชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง จึงเป็นวิบากกรรมให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกย้อนถามถึงที่มาแห่งอำนาจอยูตลอกเวลา

การเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ ในฐานะที่เป็นผู้กุมอำนาจรัฐ จำต้องให้ความสำคัญและยึดมั่นในเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง เพราะการที่ประชาชนยินยอมให้ปกครองแต่โดยดี ไม่มีความขัดข้องคาใจหรือขัดแย้งแต่อย่างใด รัฐบาลนั้นๆ ย่อมมีความชอบธรรมในการปกครอง แต่ถ้าประชาชนไม่ให้การยอมรับกับรัฐบาล และสามัคคีกันลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นจำนวนมาก เหมือนดังรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา และที่กำลังก่อตัวเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ย่อมส่งผลต่อการปกครองในหลายๆ ด้าน ทำให้ประเทศอยู่รวมกันด้วยความสงบสุขมิได้ ความมั่นคงของประเทศอาจได้รับผลกระทบกระเทือน ไร้เสถียรภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ในทางรัฐประศาสนศาสตร์ ได้กล่าวถึงเรื่อง "ความชอบธรรม"(Ligitimacy) ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 6 ประการดังนี้คือ 1.ยึดหลักนิติธรรม 2.ยึดแนวทางนิติรัฐ 3.มีคุณธรรม 4.มีจริยธรรม 5.มีศีลธรรม และ 6. มีธรรมาภิบาล รัฐบาลใดขาดองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใด ถือว่า รัฐบาลนั้นย่อมขาดความชอบธรรม 

ด้วยเหตุนี้ ความชอบธรรมทางการเมือง จึงถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการปกครอง ถ้าไร้ซึ่งความชอบธรรมแล้ว รัฐบาลอาจเข้าตาจน บริหารโดยอ้างแต่เพียงความชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้ให้ความสำคัญแก่ความชอบธรรมทางการเมือง ปกครองโดยมิได้รับการยอมรับจากประชาชน ลำพังแต่เพียงได้รับการเชิดชูยกย่องจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคม รัฐบาลนั้นๆ ก็อาจถึงกาลล่มสลายได้

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังการยึดอำนาจมาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์และหยุดยั้งอำนาจทางการเมืองของ "ระบอบทักษิณ" เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ได้รับความชอบธรรมและความศรัทธาจากประชาชนในระดับที่สูงยิ่ง นายกฯลุงตู่ ของเด็กๆและประชาชน ได้รับความนิยมสูงจากโพลล์ทุกสำนัก ไม่ว่าลุงจะพูดจาห้วนๆ กระโชก น้ำเสียงมะนาวไม่มีน้ำ บุคคลิกไม่น่าฟังอย่างไร ประชาชนก็ยอมรับให้อภัยไม่ถือสา แต่งเพลงอะไรมาร้องให้ฟังก็ดูไพเราะ ใช้อำนาจเด็ดขาดในเรื่องใดๆ ก็ไม่มีใครทัดทานตรวจสอบ แต่เมื่อสถานการณ์และวันเวลาแห่งการอยู่ในอำนาจผ่านไป เข้าสู่ปีที่ 3-4-5-6และปัจจุบัน ความชอบธรรมและความนิยมศรัทธาที่เคยสูงเด่น กลับลดน้อยถอยลงโดยลำดับ จะพูดจาอะไรต้องระมัดระวังและสำรวม

มีเสียงเตือนจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วเตือนว่า "ตู่ใช้กำลังหนุนหมดไปแล้วน่ะ" คือสัญญาณเตือนครั้งสำคัญ บ่งบอกถึงดัชนีชี้วัดสถานะและความชอบธรรมของรัฐบาล และเมื่อ คสช.ประกาศเดินหน้า สืบต่ออำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยการเลือกตั้งที่มีพรรคและนักการเมืองเก่าๆ หน้าเดิม มาเป็นฐานรองรับอำนาจ สวนทางการการปฏิรูปทางการเมืองที่เคยประกาศ เป็นสัญญาประชาคมกับประชาชน ก็ทำลายศรัทธาและความขอบธรรมแก่ รัฐบาลลุงตู่ให้ลดลงไปอีก 
 

เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนักการเมืองน้ำเน่าค้ำชู แล้วก็ถีบส่ง 4 กุมาร ที่นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับพวก ออกไปจากรัฐบาล ทั้งที่เคยร่วมทำงานกันมาด้วยความยากลำบาก พารัฐบาลทหารฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ มาได้ด้วยดี 4 กุมารร่วมกันปลุกปั้นพรรคพลังประชารัฐ จนสามารถส่ง “ลุงตู่” ขึ้นสู่บรรลังก์อำนาจสำเร็จ ที่สุดคนเหล่านั้นก็ไม่พ้น "เสร็จนาฆ่าโคทึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" โดยมีชะตากรรมมิแตกต่างจากแกนนำ กปปส. ทั้งสองกรณีนี้ จึงฉุดความนิยมศรัทธาของรัฐบาลลุงให้ถดถอยลงจมดิ่งไปเรื่อยๆ ลุงจะรู้ตัวหรือไม่ไม่ทราบ  

สถานการณ์ปัจจุบัน ถึงคราวที่รัฐบาลจะต้อง “ปรับ ครม.ครั้งใหญ่” อีกหลายตำแหน่ง ส่วนหนึ่งเพราะรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำ กปปส.ต้องคำพิพากษาจำคุก ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะต้องรับมือกับสถานการณ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังวิกฤติโควิดคลี่คลายลง แต่ที่สำคัญคือส่วนที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนของการรวมกลุ่ม ตั้งก๊ก วิ่งเต้นแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี ของ ส.ส.พรรครัฐบาล ซึ่งกำลังถูกจับตามองจากประชาชน ว่ารัฐบาลลุงจะปรับ ครม.เพื่อประโยชน์ชาติ หรือเพื่อสนองกิเลสตัณหานักการเมือง ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ

วันนี้รัฐบาลประยุทธ์ ที่อยู่มาถึง 7 ปี และมีความมุ่งมั่นจะทำสถิติอยู่ให้นานที่สุดกว่า รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้น ต้องพิจารณาและคำนึงถึง "ความชอบธรรมทางการเมือง" ด้วยเป็นสำคัญ เพราะสัจจธรรมทางการเมือง รัฐบาลที่มีอำนาจ แต่ปราศจากความชอบธรรม ไม่เคยอยู่ในอำนาจได้อย่างอยู่ยั้งยืนยงแต่อย่างใด เพราะหัวใจของการปกครอง อยู่ที่ประชาชน