การชำระเงินดิจิทัลทางเลือกหลักของคนไทยในยามวิกฤติ Covid-19

02 มี.ค. 2564 | 08:03 น.

การแพร่ระบาดของ Covid-19 ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบต่อสังคมโลก รวมถึงประเทศไทยในหลากหลายด้าน ประชาชนต้อง “เปลี่ยน” พฤติกรรมเข้าสู่โลกออนไลน์ เช่นเดียวกันภาคธุรกิจที่ต้อง “ปรับ” กลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด 

ท่ามกลางวิกฤติครั้งใหญ่นี้ เป็นเรื่องดีที่คนไทยมี “การชำระเงินดิจิทัล(digital payment)” เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดจากการสัมผัสและใช้เงินสด ส่งผลให้การชำระเงินดิจิทัลของไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย Digital 2021 Global Overview Report ระบุว่า การทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ของคนไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับปี 2562

การชำระเงินของไทยพัฒนาจนถึงจุดนี้ได้ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากพัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานและบริการชำระเงินดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย โดย “พร้อมเพย์-PromptPay” ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สำคัญที่สุดระบบหนึ่ง ที่เป็นเสมือน “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้การโอนและชำระเงินดิจิทัลเป็นเรื่องง่ายที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายขึ้นอย่างมาก 

อีกทั้งยังมีการพัฒนาต่อยอดบริการที่หลากหลายจากระบบพร้อมเพย์ ไม่ว่าจะเป็นการชำระบิลข้ามธนาคาร บริการเตือนเพื่อจ่าย การคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมไปถึงบริการที่เปลี่ยนรูปโฉมการชำระเงินของคนไทยไปมาก คือ การสแกน QR code ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่มาตรฐานกลาง Thai QR payment สามารถรองรับการชำระเงินได้หลายประเภท ทั้งจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และรองรับการเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้อีกด้วย 

ทุกวันนี้ เราอาจไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าสตางค์อีกต่อไป เพียงแค่มี mobile banking ก็สามารถสแกนจ่ายได้ ตั้งแต่ร้านค้าเล็กๆ ไปจนถึงห้างร้านขนาดใหญ่ หาบเร่แผงลอยตามตลาดนัด หรือแม้กระทั่งการใช้บริการแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รับชำระเงินผ่าน QR payment รวมถึงร้านค้าออนไลน์ โดย ณ สิ้นปี 2563 มีจุดรับชำระเกือบ 7 ล้านจุดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID - NDID) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ โดยเริ่มจากการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ช่วยให้คนไทยสามารถเปิดบัญชีเงินฝากข้ามธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัล ได้สะดวก ปลอดภัย โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากธนาคารที่ตนเองเคยมีบัญชีเงินฝาก ด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า(facial recognition) โดยไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขา ลดการกรอกเอกสารซํ้าซ้อน โดยสิ้นปี 2563 มีผู้เปิดบัญชีเงินฝากผ่านระบบ NDID สำเร็จแล้วกว่าแสนบัญชี

ภาครัฐเองได้ใช้ช่องทางการชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักที่ทำให้การส่งผ่านเงินสวัสดิการภาครัฐต่างๆ ไปสู่มือของประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงจุด เช่น การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ในโครงการเราไม่ทิ้งกันผ่านพร้อมเพย์ การให้เงินสนับสนุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนผ่าน e-Wallet ตามโครงการคนละครึ่ง เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ส่งเสริมให้ประชาชนได้ปรับพฤติกรรมมาคุ้นชินกับการใช้ digital payment มากขึ้น 

โครงสร้างพื้นฐานและบริการชำระเงินดิจิทัลต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน การดำเนินธุรกิจการค้า และการใช้ชีวิตของคนไทยยังดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น “ก้าวผ่าน” สถานการณ์อันเลวร้ายจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และ “ก้าวสู่” การเป็นสังคมไร้เงินสด (cashless society) ได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้ 

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : ชนิกานต์ โห้ไทย 

ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SCB Connect -แบงก์กรุงเทพ แจ้งปิดปรับปรุงระบบ

 

แบงก์กรุงเทพ ปิดปรับปรุงระบบโมบายแบงก์กิ้งฯ 16 ม.ค.นี้

 

ธนาคารกรุงเทพเพิ่มฟีเจอร์ #ถอนเงินไม่ใช้บัตร ผ่านโมบายแบงก์กิ้ง

 

PwC ชี้ช็อปออนไลน์ผ่านมือถือพุ่งสุดในรอบ 10 ปี

 

แคนาดานำร่อง จ่อเก็บภาษีดิจิทัลจาก “กูเกิล-เฟซบุ๊ก” เริ่มในปี 2565