ฟังชัดๆ พปชร.แตก 3 ก๊ก? จากปาก “ลุงป้อม”  

09 ก.พ. 2564 | 13:33 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

ปัญหาความขัดแย้งและเกมการแย่งอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ก่อตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และเริ่มมีปฏิกิริยามากขึ้นในห้วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ถึงขนาดมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีคนในพรรครัฐบาลส่งข้อมูลให้กับฝ่ายค้านเล่นงานคนเป็นรัฐมนตรีบางคน 


นักข่าวพยายามสืบเสาะปัญหารอยร้าวในพรรคพปชร.กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 ว่า การประชุมวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับรัฐมนตรี ที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเพิ่มเติมเป็นพิเศษหรือไม่ 

พล.อ.ประวิตร บอกว่า ไม่ต้องพิเศษ ทุกคนจะต้องเตรียมการของตัวเอง 


เมื่อถามว่านายกฯ ได้ให้ความเชื่อมั่น และให้กำลังใจทุกคนหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ต้องเชื่อมั่น ไม่เชื่อมั่นได้อย่างไร ส่วนนายกฯ จะไปร่วมติวเข้มกับ 10 รัฐมนตรี ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้หรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ


นักข่าวซักต่อไปว่า ได้พูดคุยกับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการหรือไม่ เพราะเป็นเป้าทางการเมืองในรอบนี้?


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรค พปชร.บอกว่า  “ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร”


นักข่าวซักว่า ก็ตอนนี้มีกระแสว่า พรรคพปชร.แบ่งออกเป็น 3 ก๊ก 


พล.อ.ประวิตร บอกว่า “โห ใคร 3 ก๊ก ใช่ที่ไหน มีที่ไหน”


นักข่าวแซวกลับว่า ไม่มีสามก๊ก แต่มี สาม ป.ใช่หรือไม่?

 

พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบคำถาม และเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไปในทันที!

 

ขณะที่คนในพรรคพลังประชารัฐระบุว่า ก๊กก๊วนใน “พปชร.” มีหลายกลุ่ม แตกตัวเป็นอิสระต่อกัน แต่ทุกคนฟังและเคารพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 


“กลุ่มเรารักลุง” นายสันติ พร้อมพัฒน์ สุชาติ ชมกลิ่น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นายสุพล ฟองงาม นายนิโรธ สุนทรเลขา นายสัมพันธ์ มะยูโซ้ะ นายวิรัช รัตนเศรษฐ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กลุ่ม ดาวฤกษ์ ราว 50 ชีวิต


“กลุ่มสามมิตร” นำโดย “สุริยะ-สมศักดิ์” มี ส.ส. อยู่ในสังกัด ต่ำกว่า 30 คน แกนหลัก “บุญยิ่ง นิติกาญจนา” ส.ส.ราชบุรี “ภิญโญ นิโรจน์” ส.ส.นครสวรรค์ “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” ส.ส.ชลบุรี “ปริญญา ฤกษ์หร่าย-อนันต์ ผลอำนวย-สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. “วันชัย ปริญญาศิริ” ส.ส.สงขลา   


“กลุ่มผู้กองมนัส” มี ส.ส.ในสังกัดราว 30-40 คน เน้นหนักไปที่ ส.ส.ภาคเหนือ  มี“ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร “เอกราช ช่างเหล่า” เพื่อนรัก บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช  นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง   


“กลุ่ม กทม.” นำโดย “รัฐมนตรีตั๊น” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ “รัฐมนตรีบี-พุทธิพงษ์ ปุณณ์กันต์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มี ส.ส.กทม. ในสังกัด 5 คน  “กานต์กนิษฐ์ แห้วสันติ” “ชาญวิทย์ วิภูศิริ” “จักรพันธ์ พรนิมิตร” ฯลฯ


ขณะที่ ส.ส.กทม.กลุ่มดาวฤกษ์ราว 5-6 คน แยกตัวออกมาดำเนินงานทางการเมืองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับ รัฐมนตรีบี-รัฐมนตรีตั๊น 

 

ทำไมจึงมีการโฟกัสลงไปที่รัฐมนตรีตั๊น เพราะหนึ่งนั้นคือความขัดแย้งในเรื่องการส่งภรรยา นางทยา ทีปสุวรรณ ลงสมัครเป็นผู้ว่า กทม.ซึ่งขัดกับแนวทางของผู้ใหญ่ในพรรคที่หนุน บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ลงแข่งกับนายชัชชาติ สุทธิพันธ์ ที่เดินเกมทางการเมืองเพื่อลงสมัครผู้ว่ากทม.มาอย่างต่อเนื่อง 


หนึ่งนั้นเพราะ คดีกบฎ กปปส.ชุดใหญ่ราว 39 คน ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 24 ก.พ. 2564   

                                                                   +++

       
คดีนี้มีแกนนำที่เป็นนักการเมือง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, 2.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, 3.นายชุมพล จุลใส,4. นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์, 5.นายอิสระ สมชัย, 6.นายวิทยา แก้วภราดัย, 7.นายถาวร เสนเนียม, 8.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ 9. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 


คดีกบฎนี้เกิดขึ้นจากการร่วมกันชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557 ซึ่งอัยการฟ้องฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลฯ, ฐานสนับสนุนการกบฏ และเป็นผู้สนับสนุนยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน ร่วมกันปิดงานงดจ้าง, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง


ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธเป็นหัวหน้าหรือ ผู้มีหน้าที่สั่งการ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, ร่วมกันบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญฯ โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิ หรือขัดขวางหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง 


คดีนี้จะล้อไปกันกับคดีกบฎชุดเล็ก 4 คน ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง4 คนที่เป็นชุดเล็กไปแล้ว แต่อัยการอุทธรณ์ ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 6 พ.ค.2564  ขณะที่คดีกบฎชุดใหญ่มีถึง 39 คน ศาลชั้นต้นนัดพิจารณาวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ 


เมื่อปี่กลองการอภิปรายเชิด รัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายล้วนถูกผลักออกมาให้ยืนแถวหน้าของโคลนตมเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ “รัฐมนตรีตั๊น” ที่นับวันเพื่อนที่เคยรักยังแอบชิ่งหนี!