ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ไฟเขียวแผน IPO ไทยเบฟ

05 ก.พ. 2564 | 05:13 น.

บลูมเบิร์กเผย"ไทยเบฟ" ยืนยันมีแผนนำธุรกิจเบียร์เข้าทำ IPO หลังตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ออกจดหมายให้ไฟเขียว

“บลูมเบิร์ก” รายงานอ้างอิงถ้อยแถลงของ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” เช้าวันนี้ (5 ก.พ.) ว่า บริษัทมี แผนนำธุรกิจเบียร์ที่แยกออกมาเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ทั้งนี้บริษัทได้รับจดหมาย (no-objection letter) ไม่คัดค้านแผนการดังกล่าว จาก ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ แล้ว จึงเท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับกระบวนการนำหุ้นบริษัท BeerCo ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ดูแลธุรกิจเบียร์ทั้งหมดของไทยเบฟ และไทยเบฟถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท International Beverage Holdings เสนอขายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

(จดหมายแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ของไทยเบฟยืนยันเจตจำนงการนำธุรกิจเบียร์ BeerCo เข้าจดทะเบียนในตลาด

 

ข่าวดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นของบริษัทขยับสูงขึ้น 4.4% ในช่วงเปิดตลาดสิงคโปร์เช้านี้ นับเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563

 

บลูมเบิร์กระบุว่า ไทยเบฟจะขายหุ้นประมาณ 20% ของ บริษัท BeerCo ซึ่งคาดว่าน่าจะระดุมทุนได้ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ (จากประมาณการของแหล่งข่าววงในที่ไม่ประสงค์ออกนาม) ขณะที่ตัวแทนของบริษัทปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับจำนวนหุ้นที่จะตัดขาย

 

รายงานข่าวของบลูมเบิร์กยังระบุถึงความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ Nirgunan Tiruchelvam จากบริษัท Tellimer ที่มองว่า การนำธุรกิจเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์จะเป็นผลดีที่ส่งให้ราคาหุ้นของไทยเบฟในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์พุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากไทยเบฟนั้นเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับสองของไทยและเป็นรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟจึงมีมูลค่ามหาศาล    

 

คาดว่าการขายหุ้น IPO ธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟหากเกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในรอบ 10 ปี หลังจากการทำ IPO ของบริษัท ฮัตชิสัน พอร์ท โฮลดิ้งส์ ทรัสต์ ( Hutchison Port Holdings Trust) ที่ระดมทุนได้ 5,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2554  นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การขายหุ้น IPO บริษัท BeerCo ในเครือไทยเบฟครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นฟื้นยอดขายหุ้น IPO ในภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ที่ร่วงหนัก เหลือปริมาณเพียง 915 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังจะสร้างความคึกคักในตลาดเพราะนับจากต้นปีมา ยังไม่มีการทำ IPO ในตลาดสิงคโปร์เลย

 

ข่าวระบุว่า ในตอนแรกไทยเบฟมีแผนแยกธุรกิจเบียร์ออกมาจดทะเบียนเข้าตลาดตั้งแต่ปีที่แล้ว (2563) แต่สุดท้ายก็ต้องชะลอไว้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีมาตรการปิดชั่วคราวสถานบันเทิง ร้านอาหาร ผับบาร์ และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา แหล่งข่าวเผยว่า การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของ BeerCo เพื่อการทำ IPO น่าจะอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ 3 แสนล้านบาท

 

นอกเหนือจากเบียร์ช้างซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดแล้ว ไทยเบฟยังผลิตเบียร์อาชา และเฟเดอร์บรอย ในประเทศไทยและเวียดนาม ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไซ่ง่อน และ 333 ในเวียดนาม ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 บริษัทในเครือไทยเบฟในเวียดนาม ได้ซื้อหุ้นใหญ่ในบริษัท ไซง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบเวอเรจ หรือ “ซาเบโค” ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สุดของเวียดนามด้วยมูลค่าถึง 4,800 ล้านดอลลาร์)

 

ไทยเบฟทำรายได้จากธุรกิจเบียร์ที่กำลังจะเข้าจดทะเบีบนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ที่ระดับเกือบๆ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ ๆ 4,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563) ส่วนผลกำไรหลังจากหักภาษีอยู่ที่ประมาณ 348 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

 

นอกจากธุรกิจเบียร์แล้ว ไทยเบฟยังมีโรงกลั่นสุรายี่ห้อแสงโสม , เมริเดียน และดรัมเมอร์ ในไทยและเวียดนามรวม 26 แห่ง และยังถือหุ้นประมาณ 28% ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำอัดลมและนม  ผลประกอบการปีการเงิน 2563 (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2563) มีรายได้รวม 4,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.05 แสนล้านบาท) ส่วนกำไรหลักหักภาษีอยู่ที่ประมาณ 348 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 7,820 ล้านบาท) โดยกำไรนี้คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ของไทยเบฟในปีการเงิน 2563 ส่วนนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยจากการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) โดยมีสินทรัพย์มูลค่ารวมประมาณ 16,300 ล้านดอลลาร์

 

ข้อมูลอ้างอิง

ThaiBev to File for Mega Singapore IPO of Brewery Unit

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผ่าอาณาจักร “เบียร์” แสนล้าน “ไทยเบฟ” เจ้าสัวเจริญ

ไทยเบฟ จ่อแยก “ธุรกิจเบียร์” เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ มูลค่า 3 แสนล้าน

“ไทยเบฟ” ดันธุรกิจเบียร์ ระดมทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์

ไทยเบฟ  แจงยังไม่ตัดสินใจ แยกธุรกิจเบียร์ เข้า IPO ตลาดหุ้นสิงคโปร์