4 ปัจจัยการเมืองเดือด! ซักฟอก-พรรคร่วมร้าว

07 ก.พ. 2564 | 04:00 น.

4 ปัจจัยการเมืองเดือด! ซักฟอก - พรรคร่วมรัฐบาลร้าว - แก้ไขรัฐธรรมนูญ- แก้ ม.112

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้มีเรื่องทางการเมืองหลายประเด็นที่จะนำไปสู่ “ความร้อนแรงทางการเมือง” ให้เกิดขึ้น 

 

ไปดูเรื่องแรก การอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) รัฐบาล เป็นรายบุคคล ซึ่งกำหนดไว้ ให้มีขึ้นในวันที่ 16-19 ก.พ. 2564 และให้ลงมติในวันเสาร์ที่ 20 ก.พ.นี้

 

ญัตติไม่ไว้วางใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอต่อประธานสภาฯ นั้น เขียนไว้ดุเดือด เลือดพล่านเลยที่เดียว แถมยังมีคำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  

จนเกิดการเรียกร้องให้มีการแก้ไขญัตติ แต่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ยืนยันว่า พรรคฝ่ายค้านได้ปรึกษาหารือและมีมติว่าญัตติที่ได้เสนอไปแล้วนั้น ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว และไม่มีสิ่งใดที่ต้องแก้ไข จึงไม่ต้อง แก้ไขญัตติแต่อย่างใด

 

สำหรับ 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไล่ไปตั้งแต่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข 4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ 

 

5. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 6. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 7. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 8. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย 9. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ 10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

 

ใน “ศึกซักฟอก” ครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งการ์ดรับเต็มที่ ด้วยการตั้ง “วอร์รูม” ขึ้นมาไว้คอยตอบโต้ฝ่ายค้าน หากอภิปรายพาดพิงให้เสียหาย โดยไม่มีข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริง 

 

รับรอง ดุเดือด ทั้งในสภา และ นอกสภาแน่นอน  

 

“ปชป.-พปชร.”ร้าว

 

ถัดไป เป็นปัญหา “ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นใน “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่อาจพลานไปถึงปัญหาการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจ และมีเสียงเรียกร้องให้ทบทวนการร่วมรัฐบาล

 

เรื่องแรกว่าด้วยการกระทบกระทั้งกันในเรื่องการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต 3 แทนตำแหน่งที่ว่างลง ของ นายเทพไท เสนพงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 7 มี.ค. 2564 และเปิดรับสมัครในวันที่ 11-15 ก.พ.นี้

 

4 ปัจจัยการเมืองเดือด! ซักฟอก-พรรคร่วมร้าว

 

มีความพยายามของประชาธิปัตย์ที่ยกเรื่อง “มารยาททางการเมือง” ในการร่วมรัฐบาล ขึ้นมาเสนอไม่ให้พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ส่งคนลงแข่งขัน 

 

“ผมไม่ขอให้ความเห็นเรื่องพรรคการ เมืองอื่น เพียงแต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าประชาธิปัตย์เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประชาธิปัตย์ก็จะไม่ส่งผู้สมัคร แต่จะให้เจ้าของที่นั่งเดิมที่เป็นพรรคร่วมเป็นผู้ส่ง ซึ่งประชาธิปัตย์เคยเป็นแกนตั้งรัฐบาลมาหลายครั้ง และได้ปฏิบัติมาเช่นนี้โดยตลอด สำหรับการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราชเที่ยวนี้ พรรคได้มีมติส่งผู้สมัครแล้ว เพราะเป็นเจ้าของที่นั่งเดิม” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ 

 

 

ล่าสุด ประชาธิปัตย์ ก็ได้มีมติส่ง นายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ น้องชาย นายเทพไท ลงรักษาเก้าอี้

 

ฟากของ พลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. ระบุว่า “มันเป็นเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งครั้งที่แล้วพรรคพลังประชารัฐก็แพ้ไม่กี่พันคะแนน ...แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมา บอกแล้วว่าใครสมัครก็ได้”

 

ตามมาด้วยลูกพรรค อย่าง นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานส.ส.ภาค 8 พลังประชารัฐ ที่ระบุว่า “มารยาททางการเมืองเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย ซึ่งมารยาททางการเมืองเป็นข้อตกลงหลวมๆ ไม่ได้ผูกมัดอะไรขึ้นอยู่กับการพูดคุยและเจรจา แต่ภารกิจของเราระดับพรรค ประชาชนเรียกร้องจะให้มีตัวเลือกมากๆ การบล็อกคนไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย”

 

แน่นอนว่า พปชร. ส่ง นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตผู้สมัครส.ส. ซึ่งคะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 คราวที่แล้วลงแข่งขันกับคนของ ปชป.แน่นอน 

 

เรื่องถัดไปที่เกิดรอยร้าวขึ้นในรัฐบาล นั่นคือ การ “ล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท และยังมี “โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่มีปัญหาอีลุงตุงนัง ระหว่าง บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย

 

เรื่อง “รถไฟฟ้า” ถือเป็นประเด็นที่จะถูกนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในครั้งนี้ด้วย

 

ปัจจัยที่ 3 ไปดูเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ได้เคาะที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ และใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดจะมีสัดส่วน ส.ส.ร.ที่แตกต่างกันตามจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

 

กมธ.เสียงข้างมากยังมีมติใช้เวลายกร่างรัฐธรรมนูญ  240 วัน แต่ก็มีส.ส.บางส่วนอยากให้ใช้เวลา 180 วัน จึงขอสงวนความ เห็นไว้อภิปรายในสภา นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องให้อำนาจ ส.ส.ร.ตั้งกรรมาธิการยกร่างเอง แต่มีส.ส.บางส่วนไม่เห็นด้วย เรื่องนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติ 

 

โดยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา ให้ความเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระ 2 วันที่ 24-26 ก.พ.นี้ ก่อนเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ในวันที่ 13-15 มี.ค.เพื่อลงมติวาระ 3

 

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีขบวนการสกัด เป็นคำร้องอยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หลายคำร้องด้วย

 

ไปปิดท้ายที่เรื่องการเสนอแก้ไข กฎหมายประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิก มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

 

หัวหอกที่เคลื่อนไหวเสนอเรื่องนี้ ประกอบด้วย คณะก้าวหน้า ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คณะราษฏร และพรรคก้าวไกล 

 

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรลุผล เพราะเกิดแรงต้านจากทั้ง พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา และ พรรคไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ล่าชื่อประชาชน 100,000 รายชื่อ คัดค้านในเรื่องนี้

 

“4 ปมปัจจัยทางการเมือง” จะก่อให้เกิดความร้อนแรง จนการเมืองเดือดแน่นอน... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,651 หน้า 12 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ 2564