ศาลนัดฟังคำสั่ง 8 ก.พ. เพิกถอนปิดคลิปไลฟ์สด "ธนาธร" วิจารณ์"วัคซีนโควิด"

04 ก.พ. 2564 | 09:27 น.

ศาลนัดฟังคำสั่ง 8 ก.พ. เพิกถอนปิดคลิปไลฟ์สด “ธนาธร” แสดงความเห็น"วัคซีนโควิด-19" พาดพิงสถาบันฯหรือไม่

วันที่  4 ก.พ. 64  ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำคัดค้านของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ได้ยื่นขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งให้ปิดกั้นการเผยแพร่คลิปการไลฟ์สดของนายธนาธร  กรณีวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19  ซึ่งมีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยื่นคำร้องต่อศาล 

 

ในวันนี้ นายธนาธร ผู้คัดค้าน เดินทางมาศาลขึ้นเบิกความด้วยตัวเอง  ขณะที่ฝ่ายกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ร้อง มีข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ  กับนายทศพล เพ็งส้ม ทนายความซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายให้ดีอีเอส ขึ้นเบิกความ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร ขึ้นเบิกความมีเนื้อหาสรุปได้ว่า เหตุผลที่ออกมาไลฟ์สด เพราะเป็นห่วงเรื่องการจัดการวัคซีนของไทย ควรฉีดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรวดเร็ว และกลยุทธ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาลไม่เหมาะสม ครอบคลุมประชากรน้อยเกินไป แผนการฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้ประเทศเสียหายเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ตามเอกสารแนบท้ายการประชุม ครม. เรื่องโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19

 

ประกอบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้แจงต่อกรรมาธิการสภาฯ ว่าจะฉีดวัคซีน 50% ได้ภายใน 3 ปี ไม่มีประเทศไหนทำอย่างนี้  หมายความว่าคนไทยต้องอยู่กับโควิดนานถึง 4 ปี การมีวัคซีนคือการเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
 

ส่วนกรณีที่นายธนาธรพูดถึงในหลวง ร.10 ถือหุ้นในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น  นายธนาธร ระบุมีเอกสารหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงการถือหุ้น  การจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซนเนก้ามีสัญญา 3 ส่วน คือ 


1.รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราฯ จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนไทยได้ราวเดือนพฤษภาคม  


2.สัญญาบริษัทแอสตราฯ กับบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน 200 ล้านโดส  เพื่อกระจายขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


3.รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินให้บริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน 

 

นายธนาธร ระบุด้วยว่า วัคซีนทั้งหมด 21.5 %  มาจากบริษัทแอสตราฯ 20 %  กับบริษัทซิโนแวค 1.5 % ไม่กระจายความเสี่ยง  บริษัทที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลต้องมีการคัดเลือกโปร่งใส ผู้ถือหุ้นเป็นในหลวง ประเด็นมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากข่าวทางยุโรปมีกรณีบริษัทผลิตยาส่งมอบวัคซีนไม่ทัน ถ้าความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นกับไทย ใครจะรับประกันพระเกียรติ   รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่  ถ้าเป็นตนจะไม่เลือกบริษัทสยามไบโอฯ รัฐบาลควรคำนึง  ไม่ควรเอาพระเกียรติเข้ามาเสี่ยง

 

ทั้งนี้ศาลได้ถามนายธนาธรถึงการใช้คำว่าวัคซีนพระราชทาน  นายธนาธร  ชี้แจงว่าตอนแรกคนเข้าใจเรื่องนี้ว่าเป็นวัคซีนพระราชทาน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม  พูด และหน่วยงานรัฐเป็นคนใช้คำนี้  ตนไม่ได้เป็นผู้เริ่มใช้ การที่หน่วยงานรัฐนำคำนี้มาใช้ จึงไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ  ถ้าเกิดความผิดพลาดจะกระทบสถาบันฯ ได้

ต่อมาข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการของดีอีเอส  พยานฝ่ายผู้ร้องขึ้นเบิกความ  มีเนื้อหาสรุปที่มาของการตรวจสอบเรื่องนี้  เนื่องจากมีผู้ไปแจ้งความกับตำรวจ ปอท. ให้ดำเนินคดีนายธนาธรในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 


 และเมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วก็ได้รับอนุมัติจาก รมว.ดิจิทัลฯ ให้นำพยานหลักฐานต่างๆ มายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลอาญามีคำสั่งระงับปิดกั้น เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 URL โดยเห็นว่าการไลฟ์สดของนายธนาธรเป็นการชี้นำให้ประชาชนตั้งคำถามกับในหลวงให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัท  มีผลกระทบทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นในสื่อสาธารณะ

 

ส่วนนายทศพล เพ็งส้ม  พยานฝ่ายผู้ร้องอีกปาก เบิกความถึงการฟังไลฟ์สดของนายธนาธรแล้วเห็นว่ามีการบิดเบือน จึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ปอท. ให้ดำเนินคดีตาม ป.อาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  เนื่องจากนายธนาธรพยายามบิดเบือนว่า รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิดจากบริษัทแอสตราฯ แล้ว  จากนั้นบริษัทดังกล่าวจึงไปว่าจ้างบริษัทสยามไบโอฯ ให้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด


ซึ่งนายธนาธร ชี้นำให้เห็นว่าถ้าหากบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีนโควิดล่าช้า  หรือไม่ได้คุณภาพ ก็จะเกิดความเสียหายกับผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าตามกฎหมายแล้ว กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจะต้องรับผิดชอบมากกว่า 

 

ภายหลังการไต่สวนคำคัดค้านเสร็จสิ้นแล้ว ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น.  โดยนายธนาธร เปิดเผยว่า ไม่ได้วิตกกังวลอะไร ศาลจะวินิจฉัยตัดสินอย่างไรก็เป็นอำนาจของท่าน  เราทำตามหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ได้ชี้แจงเหตุผลและพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ