ดันไทยผงาดมหานครผลไม้โลก กนอ.-สกพอ.-ปตท. ผนึกกำลังสร้างห้องเย็น

25 ม.ค. 2564 | 06:50 น.

ดันไทยผงาดมหานครผลไม้โลก กนอ.-สกพอ.-ปตท. ผนึกกำลังสร้างห้องเย็น ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการจัดทำโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(Eastern Fruit Corridor: EFC) เพื่อรองรับการลงทุนภาคการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ด้วยการสร้างห้องเย็นจัดเก็บผลไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี   

ทั้งนี้  การจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) เป็นการใช้เทคโนโลยีในการยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตเกษตรให้คงคุณภาพรสชาติเดิมได้นาน แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน การกำหนดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านการตลาดของเกษตรกร ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการฯ

              สำหรับโครงการดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี  ซึ่งนอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนแล้ว ภาคการเกษตรมีส่วนสำคัญเช่นเดียวกันโดยการยกระดับภาคตะวันออกเป็นมหานครผลไม้ของภูมิภาค และเป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูง มีมาตรฐานระดับโลก สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้ง EEC ที่ให้พัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การค้า บริการ การท่องเที่ยว และการเกษตร

ข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำห้องเย็น ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

              “ตลาดกลางและห้องเย็นในพื้นที่สามารถรองรับผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอื่นที่ส่งเข้ามาวางจำหน่ายได้ โดยรูปแบบธุรกิจจะมีสินค้าของเกษตรกรโดยตรง หรืออาจจำหน่ายในนามสหกรณ์การเกษตร ผู้ค้าส่งผลไม้ ตลอดจนล้ง มาร่วมเลือกซื้อสินค้า และเมื่อตกลงซื้อจะนำผลไม้จากห้องเย็น มาจัดส่งทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ”

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า รูปแบบของโครงการจะมีการสร้างห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลไม้ อาคารคลังสินค้า อาคารโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ อาคารสำนักงานด้านศุลกากรและพื้นที่แสดงสินค้า อาคารประมูลผลไม้ โดยใช้แนวทางประชารัฐที่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวฯจะช่วยยกระดับภาคการเกษตรในพื้นที่ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ

อย่างไรก็ดี การร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้ ทั้งสามฝ่ายเห็นร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบห้องเย็น และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เน้นการให้บริการแก่ภาคเกษตร เพื่อเก็บรักษาและคงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากการใช้ห้องเย็น ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในการเป็นมหานครผลไม้ของภูมิภาค โดยการจัดทำระบบทำความเย็นมีความสำคัญและจำเป็นมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีไม่เพียงพอกับปริมาณของผลผลิตที่ออกมา

“การพัฒนาโครงการฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง สกพอ. ,กนอ. และ ปตท.ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดย สกพอ.จะส่งเสริม สนับสนุนโครงการพัฒนาระบบห้องเย็น และโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินงานกับ ปตท.รวมทั้งจะจัดหาเกษตรกร ภาคเอกชนและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับ Supply Chain ของคลังสินค้าความเย็นทั้งหมด เช่น การคัดแยก  การเช่าห้องเย็น  การบริหารขนส่ง  เป็นต้น”

นางสาว สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.จะดำเนินการลงทุนพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) มาบตาพุด เพื่อรองรับการดำเนินโครงการฯ โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ที่ดินประมาณ 40 ไร่ ในการดำเนินโครงการ ซึ่งสมาร์ท ปาร์คในปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR งานก่อสร้าง และเตรียมนำเสนอคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองและคณะกรรมการ กนอ.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนเผยแพร่ TOR เพื่อให้มีการประกวดราคาและคัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์งานก่อสร้างและควบคุมงาน โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจนได้ผู้รับเหมาก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 64

“นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นอกจากเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ มีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปตท.จะทำการศึกษาและพิจารณาการใช้ระบบทำความเย็นที่เหมาะสมกับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มหรือการขายนอกฤดูกาล รวมทั้งออกแบบทางด้านเทคนิคสำหรับห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน (ในระยะที่ 1) โดยเป็นห้องเย็นในรูปแบบของ Multi-block Model และ Multi Purposes ที่สามารถรองรับทุเรียนหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้องเย็นให้มีการกระจายขายได้ตลอดทั้งปี

              “การเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ถือเป็นก้าวสำคัญ เสริมความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากสำคัญของประเทศ โดย ปตท. ที่มีความพร้อมด้านห้องเย็น จะนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร กนอ. จะสนับสนุนการจัดหาพื้นที่ และ สกพอ. จะประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบห้องเย็น ให้บริการเก็บรักษา สินค้าคุณภาพดี สดใหม่ และรสชาติยังดีคงเดิม ตรงตามความต้องการของตลาด”

 ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง เมื่อโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกสำเร็จ ชาวสวนจะมีรายได้ดีมั่นคง สม่ำเสมอ รวมทั้งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตรแข่งขันได้ทั่วโลกเสริมความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก
              นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบาย อีอีซี กล่าวว่า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC ที่ปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด (Demand Driven Approach) คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปกำหนดวางวิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องของตลาด ขณะเดียวกัน ก็จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยให้เกิดการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต

“โครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย รวมทั้งผลไม้อื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่นอาหารทะเล ที่ต้องการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้สดใหม่ สีสันน่ารับประทาน และสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมแปรรูป การประมูลสินค้า และการส่งออก ต่อไป” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กนอ.”ผนึก “สวนอุตสาหกรรมโรจนะ” ตั้งนิคมฯใหม่รับ “อีอีซี”

“เอ็กโก กรุ๊ป” ผนึก “กนอ.” ตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง” รับอีอีซี

“กนอ.” ชี้ “อีอีซี” ปัจจัยบวกการลงทุนปี 64

ซีอีโอปตท.ย้ำ ไม่ต้องรีบ จองหุ้น OR ได้ถึงวันที่ 2 ก.พ.นี้

ทำความรู้จักหุ้น"OR"เรือธง "ปตท."