ตั้ง"อาคม"เจรจา"เมียนมา"หาทางออก"ทวาย"

19 ม.ค. 2564 | 09:39 น.

นายกฯตั้ง"อาคม"เจรจา"เมียนมา" หลังยกเลิกสัมปทานบริษัทเอกชนไทยในโครงการทวาย เชื่อแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น

นายกฯตั้ง"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ"เจรจา"เมียนมา" หลังยกเลิกสัมปทานบริษัทเอกชนไทยในโครงการทวาย เชื่อแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น
    

วันที่ 19 ม.ค. 2564 เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมครม. โดยผู้แทนสื่อมวลชนสอบถามถึงจุดยืนรัฐบาล หลังบริษัท อิตาเลียนไทย ส่งหนังสือขอความช่วยเหลือถึงนายกฯ จากกรณีที่เมียนมายกเลิกสัญญาสัมปทาน 7 โครงการ ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะเดินหน้าโครงการทวายต่อหรือไม่อย่างไร และโครงการนี้มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ประเทศไทยหรือไม่ 


นายกฯตอบว่า เรากำลังเดินหน้าตรงนี้อยู่ ช่วงที่ผ่านมาเราก็มีปัญหาเยอะพอสมควร วันนี้ก็มีการปรับปรุงในการเจรจาความร่วมมือดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ไปดูกติกาต่าง ๆ การคุ้มครองการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้อย่างไร ซึ่งได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้เจรจามาก่อนหน้านี้  ได้หารือกับทางการเมียนมาต่อไป  ซึ่งคิดว่าน่าจะทำให้ดีขึ้นในส่วนตรงนี้
    

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เดิมทางการเมียนมาให้สัมปทานแก่กลุ่มอิตาเลียนไทย ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ เพื่อเป็นท่าเรือน้ำลึก ฐานผลิตอุตสาหกรมต้นน้ำ อาทิ ปิโตรเคมี น้ำมัน เหล็ก   แต่เนื่องจากเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 300,000 ล้านบาท ต้องได้รับการสนับสนุนระดับประเทศ
    

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นเลขาธิการ สศช. ขณะนั้น ศึกษาและเสนอรัฐบาลให้บรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ เชื่อมโยงพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นฐานผลิตหลักของไทยกับโครงการทวาย เพื่อเป็นท่าเรือน้ำลึกฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยดึงธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย(เอดีบี)และรัฐบาลญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย โดยฝั่งไทยถึงกับลงทุนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ถึงชายแดนเพื่อรองรับ  แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา จากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ที่ลดความสนใจโครงการทวาย กระทั่งมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัมปทานของอิตาเลียนไทยดังกล่าว      
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ITD งานเข้าเมียนมายกเลิกสัญญาทวาย

ITD เปิดร่วง 7% หลังเมียนมายกเลิกสัญญาทวาย

อภิโปรเจ็กต์ ทวาย คืบหน้าบนความไม่แน่นอน

โครงการทวายคืบตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแต่ละด้านเร่งสรุปใน 3 เดือน