เช็กที่นี่ มาตรการเยียวยารอบ 2 เข้าครม. แบบอัพเดทล่าสุด

12 ม.ค. 2564 | 09:20 น.

สรุปล่าสุด มาตรการ"เยียวยารอบ 2" ที่เสนอให้ ครม.พิจารณาวันนี้ แบบชัดๆ พักหนี้แบงก์รัฐ ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา 2 เดือน ส่วนเราไม่ทิ้งกัน เยียวยาเกษตรกร รอบ 2 รอลุ้น 19 ม.ค. นี้

12 มกราคม 2564 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการเยียวยารอบ 2 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด ที่หน่วยงานต่างๆจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาในวันนี้ มีวาระสำคัญ ดังนี้

 

1. มาตรการทางด้านการเงินเสริมสภาพคล่อง และบรรเทาภาระหนี้สิน ของสถาบันการเงินในกำกับของกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ ผู้ประกอบการ ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น และลดดอกเบี้ย

 

ภายหลังการประชุมครม. ในวันนี้ เวลา 14.30 น.วันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค. ) และผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะร่วมแถลงความชัดเจนมาตรการดังกล่าว

2. มาตรการลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำประปา เป็นระยะเวลา 2 เดือนตั้งแต่เดือนก.พ. - มี.ค. 2564 โดยรัฐบาลจะจัดสรรเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาชดเชยรายได้ให้กับ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค

 

3.  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส จะรายงานให้ ครม. รับทราบมาตรการเยียวยารอบ 2 ของ กระทรวงดีอีเอส ,กสทช. และ ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตมือถือ และ บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต

 

ส่วนเราไม่ทิ้งกันรอบ 2 มาตรการเยียวยาเกษตรกร รอบ 2 และอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด จะเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาในวันที่ 19 มกราคม 2564

 

หากผลมติครม.ออกมาอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" จะอัพเดทให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

 

เวลา 13.05 น. รายงานข่าวจากที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิดรอบ 2 ด้วยการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนด้วยการการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นระยะเวลา 2 เดือน ในรอบบิลเดือนกุมพันธ์ ถึง มีนาคม 2564 โดยค่าน้ำประปาจะลดลงในอัตรา 10% ส่วนค่าไฟฟ้าจะลดลงตามอัตราการใช้เป็นช่วงๆ

 

เวลา 13.27 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า จากการที่ได้หารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 คือ ลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดย ได้สั่งการให้มีการเยียวยาผลกระทบทุกกลุ่มครอบคลุมเหมือนที่ผ่านมา ให้พิจารณาวงเงิน  3,500 บาทเป็นเวลา 2 เดือน 

 

ส่วนมติครม. ในวันนี้ มีมติในการลดภาระค่าน้ำ และค่าไฟ 10% ลดเป็นเวลา 2 เดือน รอบบิลเดือน ก.พ. - มีนาคม ปี 64  โดยในส่วนของไฟฟ้า  90 หน่วยแรกแรกใช้ฟรี  สำหรับกิจการขนาดเล็ก ใช้ฟรี 50 หน่วยแรก 

 

นอกจากนี้ ในส่วนของค่าอินเตอร์เน็ตนั้น กสทช.และผู้ประกอบการ เพิ่มความเร็วของอินเตอร์เน็ตบ้านและมือถือ ให้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุน WFH ไม่คิดค่าดาต้า 3 เดือน ในการใช้แอปหมอชนะ

 

ส่วนมาตรการคนละครึ่ง จะให้มีการเปิดลงทะเบียนอีก 1 ล้านสิทธิ์ ปลายเดือนมกราคมนี้

 

นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบมาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน และมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์ การว่างงาน ฯลฯ

 

พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนองบ้านและที่ดิน รวมถึงการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้เสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของครม.โดยเร็วที่สุด

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาคนละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน จะครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยจะมีการเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า หลังครม.เห็นชอบจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านโครงการ “เราชนะ”

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.ยังอนุมัติงบกลางจำนวน 1.4 พันล้านบาท ใน โครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมฯ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการฯจำนวน 1.2 แสนคน ได้รับผลกระทบอย่างมากในการแพร่ระบาดของโควิด-19

มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

 

1.1.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้    1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท และ 3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

 

1.1.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

 

1.1.3 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้ 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 

 

2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่  31 มกราคม 2564 และ 3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ

 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563  (Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

 

1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน

 

1.2.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงินคงเหลือประมาณ 2,700 ล้านบาท และ 2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

 

1.2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ทุกโครงการสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564

 

2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)

 

สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ 2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ 3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ

 

ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค.

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

- ธนาคารออมสิน     โทร. 1115

- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02-555-0555

- ธนาคารอาคารสงเคราะห์   โทร. 0-2645-9000

- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 1357

- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 0-2617-2111

- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย   โทร. 1302

- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 0-2890-9999

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท. ออกมาตรการด่วน "เยียวยาโควิดรอบ 2"

สรุป"เยียวยารอบ 2" คลังจัดหนัก "พักชำระหนี้-เสริมสภาพคล่อง"