เชนสโตร์ไอที-มือถือ หนีตั้งนอกห้าง รับล็อกดาวน์

09 ม.ค. 2564 | 06:00 น.

เชนสโตร์ไอที-มือถือ ปรับช่องทาง “ออฟไลน์-ออนไลน์” รับโควิดระลอกใหม่ เจมาร์ทลุยเปิดป๊อบอัพ สโตร์ สาขานอกห้างเพิ่มขึ้น60 แห่ง พร้อมยกเครื่องเว็บไซต์ใหม่ เชื่อมต่อออฟไลน์-ออนไลน์ ขณะที่แอดไวซ์ เดินหน้าพัฒนาช่องทางออนไลน์ต่อเนื่อง ชี้สินค้าดิจิทัลโตรับอานิสงส์โควิด

 

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด เชนสโตร์สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์รายใหญ่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าบริษัทได้เตรียมแผนรองรับกับการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ โดยในช่องทางออฟไลน์นั้น ตั้งเป้าเปิดสาขา ป๊อบอัพ สโตร์ หรือสาขานอกห้าง 60 แห่ง จากเดิมมี 12 แห่ง

 

ส่วนช่องทางออนไลน์นั้นในเดือนมกราคมนี้จะเปิดตัวเว็บไซต์เจมาร์ทโฉมใหม่ ที่ใช้เวลาพัฒนามา 9 เดือนหลังเกิดโควิด โดยจะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ของเจมาร์ท มีหน้าตา หรือ ยูสเซอร์อินเตอร์เฟช ดีขึ้น ใช้งานง่ายมากขึ้น รองรับ O2O ออนไลน์ทูออฟไลน์ มีระบบการจัดส่งสินค้าและระบบการชำระเงินที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังผูกกับระบบสมาชิก เพื่อดึงลูกค้าช่องทางออฟไลน์มาซื้อสินค้าออนไลน์ โดยสามารถนำแต้มมาใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้าช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีบริษัทแชทแอนด์ช็อป เพื่อให้บริการให้ข้อมูลและตอบคำถามลูกค้าผ่านโปรแกรมสนทนา ขณะเดียวกันไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมายังได้พัฒนาเวอร์ชวล สโตร์ อีเว้นท์ บนออนไลน์ขึ้นมา เพื่อรองรับการนำกิจกรรมจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์

 

“โควิดรอบแรก เรารู้เรื่องปิดห้างก่อน 1 วัน ทำให้ยอดขายในห้างหายไปทั้งหมด เราจึงได้เริ่มเปิด ป๊อบอัพสโตร์ สาขานอกห้างขึ้นมาเป็นแห่งแรกที่สำนักงานใหญ่ แม้ว่าจะไม่สามารถทดแทนยอดขายที่หายไปได้ แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หลังจากนั้นเราเปิดสาขานอกห้างเพิ่มเป็น
12 แห่ง เราตั้งเป้าหมายมีสาขานอกห้างเพิ่มขึ้นเป็น 60 แห่ง ซึ่งรอบนี้เราเชื่อว่ารับมือได้ดีกว่าการระบาดรอบแรก”

 

เชนสโตร์ไอที-มือถือ หนีตั้งนอกห้าง รับล็อกดาวน์

 

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาดบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด เชนสโตร์สินค้าไอทีครบวงจรที่มีสาขาครอบคลุมกว่า 350 สาขา กล่าวว่า บทเรียนจากโควิดครั้งที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีการพัฒนาช่องทางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเว็บไซต์แอดไวซ์ ซึ่งขณะนี้ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งหมวดช้อปปิ้งสินค้าไอที นอกจากนี้ยังมีช่องทางอีมาเก็ตเพลส ซึ่งมีหน้าร้านอย่างเป็นทางการบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ ช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซ ผ่านทางไลน์และเฟชบุ๊ก โดยขณะนี้ช่องทางออนไลน์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ส่วนช่องทางหน้าร้านนั้นส่วนใหญ่สาขาแอดไวซ์ จะเป็นอาคารพาณิชย์ ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบมากการปิดห้าง

 

การระบาดของโควิดทำให้กลุ่มสินค้าดิจิทัล ไอที เติบโตขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนมีการซื้อไปใช้ทำงานที่บ้าน อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารอบนี้เอสเอ็มอี หรือองค์กร จะมีการจัดซื้ออุปกรณ์ไอทีมากขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจไม่สะดุดหากเกิดกรณีล็อกดาวน์ สิ่งที่เป็นห่วงคือมาตรการห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด อาจมีผลกระทบกับการขนส่งสินค้า และสินค้าไม่มีขาย ซึ่งขณะนี้เราต้องเตรียมตัวดูแลเรื่องของสต็อกสินค้า โดยเชื่อว่าการระบาดครั้งนี้น่าจะรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีผลกระทบกับยอดขาย  แต่เราสามารถรับมือ หรือรับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564