กระฉ่อน”ล้มสรรหา กสทช.” ตัวเต็งปธ.ขัดคุณสมบัติ

04 ม.ค. 2564 | 12:10 น.

กระฉ่อนทั้งทำเนียบ มือดีล็อบบี้ เสนอเรื่อง“ล้มสรรหา กสทช.” เข้า ครม.เป็นวาระจรนัดแรกของปี เหตุ “ตัวเต็ง” ส่อขัดคุณสมบัติ แต่อ้าง พ.ร.บ.กสทช.ผ่านสภาฯแล้วรอวุฒิสภาพิจารณาอาจทำให้มีปัญหา จึงเสนอให้นายกฯ-ครม.ใช้อำนาจเลิกสรรหาที่เดินหน้าไปตามมติ ครม.16 มิ.ย.63

แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้รายงานว่า ตั้งแต่ก่อนปีใหม่และถึงตอนนี้มีความพยายามของผู้มีอำนาจบางคนที่จะเสนอเรื่องที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อ ชะลอการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ออกไปก่อน โดยมีรายงานว่า จะเสนอเป็นวาระจรให้ ครม.พิจารณาในวันอังคารที่ 5 มกราคม 2564 ซึ่งถือเป็นนัดแรกของปี 2564  

 

แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับวาระจรดังกล่าว ผู้มีอำนาจบางคนได้มีการมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องด้านกฎหมายเสนอข้อคิดเห็นต่อ ครม. โดยให้เหตุผลว่า มีข้อท้วงติงเกิดขึ้นว่า หากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ดังนั้นหากวุฒิสภาพิจารณาแล้วเสร็จตามขั้นตอน อาจจะกระทบสิทธิกับผู้สมัคร กสทช.ที่กำลังสรรหากันอยู่ เนื่องจากในร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปนั้น กำหนดให้มีการ สรรหา กสทช. ชุดใหม่ตามกฎหมายภายใน 15 วัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจทำให้ กสทช.ชุดใหม่ที่ได้รับการสรรหาตามขั้นตอนในขณะนี้ ทำงานอยู่ได้เพียง 6 เตือนเท่านั้นก็ต้องสรรหาใหม่ตามกฎหมาย
 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.กสทช.นั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และเพิ่งเห็นชอบในหลักการวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2563 โดยมีกำหนดเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 4 ธ.ค.2563 ที่สภาผู้แทนราษฎรส่งร่างกฎหมายมาให้พิจารณา
ดังนั้น จึงควรใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติให้ชะลอไว้ก่อน เหมือนกับที่เคยใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2562 ให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.ไว้ก่อนจนกว่าจะมีร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ใช้บังคับหรือจนกว่า นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ ครม. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรได้พยายามทักท้วงว่า อำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ 8/2562 ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากที่นายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 63 ให้เริ่มกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ เมื่อกระบวนการสรรหาได้เริ่มขึ้นแล้ว นายกฯ หรือ ครม. ย่อมไม่อาจสั่งการให้สั่งยุติการสรรหา กสทช. ได้ 

 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.กสทช. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2560 ได้บัญญัติถึงวิธีการสรรหาไว้โดยเฉพาะ เป็นอิสระ แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ แต่ก็ไม่ได้ให้อำนาจยกเลิกการสรรหาที่ดำเนินการไปแล้วได้ อีกทั้ง กสทช.ถือเป็นองค์กรอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 274 มิได้ขึ้นกับการบริหารราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกฯจึงไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.ได้เช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.กสทช. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2560 ฉบับที่บังคับใช้อยู่นั้น กำหนดว่า “เมื่อมีเหตุให้ต้องมีการเลือกและแต่งตั้งกรรมการ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาให้ทำหน้าที่แล้ว ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นการสรรหาตามที่ พ.ร.บ.มาตรา 14-17 กำหนดไว้” ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ได้มีบทบัญญัติให้ฝ่ายบริหารหรือคณะกรรมการสรรหายุติการสรรหาได้ 

 

ดังนั้น การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ ครม.จึงไม่อาจมีมติให้ยุติการสรรหา กสทช.ที่ดำเนินการอยู่ โดยขณะนี้คณะกรรมการสรรหาอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่เข้าสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.รวมทั้งสิ้น 80 ราย
 

ผู้สื่อข่าวระบุอีกว่า ส่วนประเด็นบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่วุฒิสภาพิจารณาอยู่ และอาจจะกำหนดในบทเฉพาะกาลให้สรรหา กสทช.ภายหลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ที่อาจจะกระทบต่อ กสทช.ที่กำลังสรรหาอยู่นั้น ก็ถือเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องพิจารณา มิใช่อำนาจของฝ่ายบริหาร 
แหล่งข่าวจากผู้สมัคร กสทช.อย่างน้อย 4 ราย เปิดเผยว่า สาเหตุที่แท้จริงที่มีความพยายามจะล้มการสรรหา กสทช.ในครั้งนี้ เนื่องจาก มีผู้สมัคร กสทช.อย่างน้อย 3-4 ราย ทั้งที่เป็นระดับนายพล และพลเรือน ที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจและถูกวางตัวให้เป็น กสทช.ชุดใหม่ มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น เป็นกรรมการ ผู้บริหารองค์กรที่เกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งตามมาตรา 7 ข. (12) ของ พ.ร.บ.กสทช.กำหนดเป็นคุณสมบัติต้องห้าม 

 

ทั้งนี้ มาตรา 7 ข.(12) ของพรบ.กสทช. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2560 กำหนดข้อห้ามเรื่องคุณสมบัติว่า “เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนได้รับการเสนอชื่อ” 

 

จากการตรวจสอบพบว่า มีรายชื่อผู้สมัคร กสทช.ที่กำลังสรรหาอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อย 3-4 คน ที่ถูกวางตัวให้เป็นกสทช. และเป็นประธาน กสมทช.แต่กลับพบว่า มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น เป็นอดีตผู้บริหาร กสทช. เป็นทหารที่เป็นผู้บริหารกิจการโทรทัศน์ เป็นทหารด้านความมั่นคงที่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า แต่มีส่วนเกี่ยวพันกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนได้รับการเสนอชื่อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘กสทช.’ เข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 หนุนพนักงาน ‘ทำงานจากบ้าน’

‘กสทช.’ กางโรดแมป ปี 64 เตรียมพร้อมประมูล 5G คลื่น 3500 MHz

‘กสทช.’ ย้ำโอเปอเรเตอร์ดูแลคุณภาพสัญญาณ ‘ช่วงปีใหม่’

‘ทรู’ ชำระค่าคลื่น 700 MHz งวดแรก 1.8 พันล้าน