“นิด้าโพล” เผย ผลสำรวจ ปชช. ชี้ “บิ๊กตู่” เหมาะนั่งนายก 30.32%

27 ธ.ค. 2563 | 01:42 น.

"นิด้าโพล" เปิดผลสำรวจ ปชช.กว่า 30% ชี้ "บิ๊กตู่" เหมาะนั่งนายกฯ เพราะเป็นคนจริงจัง ทำงานตรงไปตรงมา ทิ้งห่างอันดับสอง "คุณหญิงสุดารัตน์" ได้ที่ 13.46%

27 ธันวาคม 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,533 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย    (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

 

จากการสำรวจ เมื่อถามถึง บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ปรากฎผล ดังนี้  

อันดับ 1 ร้อยละ 32.10 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 2 ร้อยละ 30.32 ระบุว่า เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะบริหารงานดีอยู่แล้ว เป็นคนจริงจังกับการทำงาน ทำงานตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ บ้านเมืองสงบไม่วุ่นวาย สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาด ช่วยเหลือประชาชนทุกเพศทุกวัยได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว

อันดับ 3 ร้อยละ 13.46 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะมีประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาได้ดี มีความซื่อสัตย์  เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริง ทำจริง และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว

อันดับ 4 ร้อยละ 7.74 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะอยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ เป็นคนที่มีความคิดที่ทันสมัยและชื่นชอบนโยบายพรรค 

 

อันดับ 5 ร้อยละ 7.50 ระบุว่า เป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริง ทำจริง มีความซื่อสัตย์ และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว

อันดับ 6 ร้อยละ 2.05 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อันดับ 7 ร้อยละ 1.65 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) เพราะมีวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นคนตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ ขณะที่บางส่วนระบุว่า มีความเข้าใจการเมืองทั้งแบบเก่าและแบบใหม่

อันดับ 8  ร้อยละ 1.34 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีผลงานในการทำงานที่ดีโดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 บริหารจัดการงานได้ดี พูดจริง ทำจริง และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว

อันดับ 9 ร้อยละ 1.03 ระบุว่า เป็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (พรรคเพื่อไทย) เพราะชอบผลงานของพรรคเพื่อไทย ชื่นชอบนโยบายพรรค ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคเศรษฐกิจใหม่) เพราะมีนโยบายพรรคที่ชัดเจนน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

ร้อยละ 1.78 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร นายอานันท์ ปันยารชุน

 

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3 เดือนกันยายน 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นายกรณ์ จาติกวณิช นายอนุทิน ชาญวีรกูล และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

สุดท้ายเมื่อถามถึง พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ ปรากฏผล ดังนี้

อันดับ 1 ร้อยละ 26.49 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย

อันดับ 2 ร้อยละ 23.61 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 17.80 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ 4 ร้อยละ 14.92 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ 5 ร้อยละ 7.46 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 6 ร้อยละ 3.00 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย

อันดับ 7 ร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อันดับ 8 ร้อยละ 1.82 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย

อันดับ 9 ร้อยละ 0.95 ระบุว่าเป็น พรรคกล้า

อันดับ 10 ร้อยละ 0.55 ระบุว่าเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา

อันดับ 11 ร้อยละ 0.47 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อชาติ

อันดับ 12 ร้อยละ 0.24 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนา และพรรคประชาชาติ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

อันดับ 13 ร้อยละ 0.12 ระบุว่าเป็น พรรครวมพลังประชาชาติไทย

อันดับ 14 ร้อยละ 0.04 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชนปฏิรูป 

 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3 เดือนกันยายน 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย พรรคเพื่อชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคกล้า พรรคชาติไทยพัฒนา และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 

 

“นิด้าโพล” เผย ผลสำรวจ ปชช. ชี้ “บิ๊กตู่” เหมาะนั่งนายก 30.32%