ตั้งแท่นเลือกตั้ง เทศบาล - อบต. คิวถัดไป

19 ธ.ค. 2563 | 02:00 น.

ตั้งแท่นเลือกตั้ง เทศบาล - อบต.คิวถัดไป: รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3637 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 20-23 ธ.ค.2563

 

ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ นายก อบจ.ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 แล้ว ตามขั้นตอนจะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง ภายใน 30 วัน หรือประมาณวันที่ 19 ม.ค. 2564 

 

เมื่อเลือกตั้ง อบจ.ผ่านไปแล้ว คาดหมายว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นลำดับถัดไป น่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล(สท.) 2,444 แห่ง ตามด้วยการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,330 แห่ง ก่อนจะไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ สภา กทม. 1 แห่ง และ ปิดท้ายด้วยการเลือกตั้ง นายกพัทยา และสภาเมืองพัทยา 

 

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนั้น ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ทยอยประกาศเผยแพร่การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ไปเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว 

 

คาดหมายว่า การเลือกตั้งเทศบาลน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2564 และอาจรวมถึงการเลือกตั้ง อบต.ด้วย

 

สำหรับการ “เลือกตั้ง อบต.” นั้น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัด มท.) ได้มีหนังสือ เรื่อง การเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)  ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด 

 

พร้อมส่งสรุปข้อมูลการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง และตัวอย่างประกาศอำเภอ เรื่องการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง และแบบรายงานการประกาศรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน

 

ตั้งแท่นเลือกตั้ง เทศบาล - อบต. คิวถัดไป

 

 

โดยหนังสือระบุว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดดําเนินการรวมหมู่บ้านที่มีจํานวนราษฎร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันเพื่อเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล  

 

กระทรวงมหาดไทย ได้สรุปข้อมูลการรวมหมู่บ้านที่มีจํานวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียน ราษฎรไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันเพื่อเป็นเขตเลือกตั้งที่ได้รับรายงานจากจังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการ จัดทําประกาศกําหนดการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งตามบทบัญญัติมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ.2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งนายอําเภอทุกอําเภอเตรียมดําเนินการ ดังนี้

 

 

 

1. เตรียมจัดทําประกาศกําหนดการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง โดยรับฟังความคิดเห็น เบื้องต้นจากราษฎรในหมู่บ้านที่มีจํานวนราษฎรไม่ถึง 25 คน

 

2. สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นประกาศให้ประชาชนทราบ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง แสดงความคิดเห็นโต้แย้ง และแสดงเหตุผล

 

3. จัดทําประกาศการกําหนดการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภาย ในวันที่ 31 มกราคม 2564 พร้อมทั้งรายงานให้จังหวัดทราบ เมื่อจังหวัดได้รับรายงานจากทุกอําเภอแล้ว ขอให้รายงานตามแบบสิ่งที่ส่งมาด้วย และสําเนาประกาศฯ ให้กระทรวงมหาดไทย ภายในวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

 

ตั้งแท่นเลือกตั้ง เทศบาล - อบต. คิวถัดไป

 

 

ทั้งนี้ สรุปข้อมูลการรวมหมู่บ้านที่มีจํานวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันเพื่อเป็นเขตเลือกตั้ง อบต. พบว่า มีจังหวัดที่ไม่ต้องรวมหมู่บ้าน 35 จังหวัด เพราะไม่มีหมู่บ้านที่มีจํานวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน

 

โดยมีจังหวัดที่ต้องรวมหมู่บ้าน 41 จังหวัด เพราะมีหมู่บ้านที่มีจํานวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน จํานวน 109 อําเภอ 128 ตําบล 203 หมู่บ้าน 150 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็น 1. รวมกันเองเป็นเขตเลือกตั้ง จํานวน 18 เขตเลือกตั้ง 2. ไปรวม กับหมู่บ้านที่มีราษฎรฯ ถึง 25 คน จํานวน 132 เขตเลือกตั้ง

 

 

 

ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 45 วรรคสอง ให้ถือเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน และเมื่อรวมกันแล้วจะมีราษฎรถึง 25 คน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน 

 

การนับจํานวนราษฎรดังกล่าวให้นับ ณ วันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้งวรรคสาม การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งตามวรรคสองให้นายอําเภอ เป็นผู้ดําเนินการและประกาศให้ประชาชนทราบภายในวันที่ 31 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง ฯลฯ

 

ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้บรรยายตอนหนึ่ง ในงานประชุมสัมมนาสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ว่า พร้อมเลือกตั้งเทศบาลต่อจาก อบจ. แต่หากเทศบาลยังไม่อยากเลือก ก็แจ้งรัฐบาลว่าไม่พร้อม และอีกทางให้เร่งกระทรวงมหาดไทยประกาศจำนวนประชากรในเดือนมกราคม เพื่อจะได้เลื่อนเลือกเทศบาลไปอีก ขณะที่การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจเป็นสาเหตุให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องล่าช้าออกไปอีก 

 

หลังผ่านพ้น “อบจ.” ไปแล้ว ต้องรอดูท่าทีจากกระทรวงมหาดไทย และ คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า เตรียมที่จะให้มีการเลือกตั้ง “เทศบาล” และ “อบต.” ได้เมื่อไหร่... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,637 หน้า 12 วันที่ 20 - 23 ธันวาคม 2563