เอกซเรย์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์

16 พ.ย. 2563 | 08:43 น.

เอกซเรย์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ชงปมร้อน แก้ที่มา นายกฯ ต้องเป็นส.ส.-มาจากการเลือกตั้ง-เซ็ตซีโร่ องค์กรอิสระทั้งหมด-ยกเลิกกฎหมายประกอบรธน.7ฉบับ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ หรือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนเข้าชื่อกว่าแสนรายชื่อ หรือ ที่เรียกกันติดปากสั้นๆว่า “ร่างไอลอว์” ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเป็นร่างที่ 7 ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการเข้าชื่อของประชาชน ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ขอสรุปสาระสำคัญพอสังเขปมานำเสนอ

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ปรากฎใน เว็บไซต์ไอลอว์ เรื่อง ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยประชาชน " 5 ยกเลิก 5 แก้ไข" ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาและเหตุผลของ ร่างไอลอว์ ไว้ ดังนี้  

 

ร่างไอลอว์ เสนอให้ยกเลิก ม.272 ที่เปิดทางให้สภาเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เห็นว่า ถ้าหากไม่ยกเลิกกลไกพิเศษนี้ในอนาคตอาจจะเห็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกก็ได้ โดยเสนอแก้ไขคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่า ต้องเป็นส.ส. และต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลของรธน.ปี 2560 มาตรา 272 กำหนดขั้นตอนการได้มาของ นายกรัฐมนตรี ให้มีขั้นตอน ดังต่อไปนี้

 

1. ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้

 

2. ส.ส. และ ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี

 

3.ส.ส. และ ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ

 

นอกจากนี้ ร่างไอลอว์ ยังให้มีการยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) แต่งตั้งคนขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมองว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นั้น เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ภาครัฐโดยกองทัพกับนายทุนผูกขาด และมีบทบาทควบคุมการออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปอีก 20 ปี โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็น ประธานคณะกรรมการ ในขณะที่สัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนใหญ่มาจากทหารและนายทุน เกือบทั้งหมดเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช.

 

ดังนั้น ในอนาคตไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองใด แม้จะชนะการเลือกตั้งมาได้แต่การออกนโยบายหรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะอยู่ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. ได้วางเอาไว้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติวิปรัฐบาลหนุน "2 ร่างแก้รธน." รอถกของ "ไอลอว์"

มติฝ่ายค้าน รับหลักการ 7 ร่างแก้รธน.

"รวมพลังประชาชาติไทย" ประกาศจุดยืน ค้านจัดทำรธน.ใหม่ ทั้งฉบับ 

"ศรีสุวรรณ"บุก รัฐสภา ร้องสอบรายชื่อแก้รธน.ฉบับ "ไอลอว์"

"สิระ"ประกาศคว่ำร่างแก้รธน.ฉบับไอลอว์ ชี้ มีวาระซ่อนเร้น 

"ส.ว.คำนูญ"ชำแหละปมร้อน ร่างแก้รธน.ฉบับ "ไอลอว์"

 

ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งมีระยะใช้งาน 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2561-2580) หลังถูกบังคับใช้ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปี เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการนำประเทศไทยไปเผชิญความท้าทายกับโลกอนาคต ดังจะเห็นได้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นหลังยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่พบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการยกระดับรายได้ของประชาชนให้เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปีก็สวนทางกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำและเหลี่ยมล้ำมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. จะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่จะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศและเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. เท่านั้น

 

ในร่างแก้ไขฉบับไอลอว์ ยังให้ ยกเลิก หมวด 16 การปฏิรูปประเทศด้วย ด้วยเหตุผล เดียวกันคือ เป็นแผนที่เขียนขึ้นโดยคนของ คสช. ที่กำหนดให้ ครม. ต้องแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน เป็นการตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ ทั้งยังเห็นว่า คณะกรรมการปฏิรูปในด้านต่างๆนั้นแม้จะจัดทำแผนเสร็จแล้วก็ยังไม่พ้นจากตำแหน่งจะ ยังคงทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปจนถึงปี 2565

 

นอกจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศบางคน ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจติดตามกำกับรัฐบาลด้วย ดังนั้น กรรมการบางคนจึงเป็นทั้งคนร่างแผน และคนกำกับติดตามรัฐบาล ในร่างแก้ไขฉบับไอลอว์ จึงต้องการให้ยกเลิกกลไกนี้และใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแนวทางที่ใช้มาตลอดหลายสิบปีที่มีอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ในร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอลอว์ ยังให้ ยกเลิกม.252 ที่กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดยวิธีอื่น นอกจากการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 252 กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดยวิธีอื่นนอกจากการการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ซึ่งต่างจากรธน.ก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้ ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

ดังนั้น ในอนาคตอาจมีองค์กรบางประเภทสำหรับบางพื้นที่ที่ผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ทั้งยังเปิดช่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการแต่งตั้งยุค คสช. อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

 

ในร่างแก้ไขฉบับไอลอว์ ยังให้ ยกเลิกม.279 ที่ระบุว่า ประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหมดของ คสช. หรือของหัวหน้าคสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงประกาศ คำสั่ง ที่จะประกาศบังคับใช้ต่อไปข้างหน้า ให้มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปนั้น

 

เห็นว่า คสช. ได้เขียนนิรโทษกรรมให้กับตนเองไว้แล้ว โดยเขียนว่า ทั้งประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคสช. ก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้เป็นต้นไป ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด และยังคงมีอำนาจตามประกาศและคำสั่งที่ออกไว้ ทำให้ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังกับการทำรัฐประหารและการละเมิดสิทธิของประชาชนใดๆ ได้ 

 

ขณะที่ในร่างแก้ไขรธน.ฉบับ ไอลอว์ ยังเสนอให้ ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. แก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง และลดจำนวนเหลือเพียง 200 คน ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งโดย การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งยังเสนอให้ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระใหม่ จากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร


 

อย่างไรก็ดี ไฮไลท์สำคัญของร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอลอว์ ที่ถูกพูดถึงและถูกตั้งข้อสังเกตจากนักการเมืองหลายรายที่มองว่า จะส่งผลกระทบตามมาในอนาคตได้ นั่นก็คือ

 

กรณีเสนอให้ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวม 7 ฉบับ สิ้นผลไป ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงให้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง และสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกกต. ชุดใหม่ โดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540

 

เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมาองค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ไม่เคยลงมติให้ฝ่ายของ คสช. เสียเปรียบในทางการเมืองเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ข้อกฎหมายชัดเจนเพียงใดก็ตาม  ถูกฝ่าย คสช.นำมาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม เช่น การยุบพรรคไทยรักษาชาติ การยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงการตัดสินไม่ให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น ส.ส.

 

ร่างของไอลอว์ จึงเสนอให้ “เซ็ตซีโร่” องค์กรอิสระใหม่ทั้งหมด โดยให้กรรมการในองค์กรทั้งเจ็ดที่มีอยู่ พ้นจากตำแหน่งทันที และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จัดตั้งองค์กรเหล่านี้ และเขียนกระบวนการสรรหาภายใต้อำนาจของ คสช. ทั้งหมดเจ็ดฉบับ แต่ยังให้ทุกคนรักษาการชั่วคราวไปก่อน

 

อ่านรายละเอียดรายมาตรา