พิษโควิด-19 ฉุดแผนส่งออก LNG ของ “ปตท.” เลื่อนเป็นไตรมาส 2/64

10 พ.ย. 2563 | 08:35 น.

“ปตท,”เผยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องชะลอการส่งออก LNG เชิงพาณิชย์เป็นช่วงไตรมาส 2/64

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.” (PTT) เปิดเผยว่า ปตท. เลื่อนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งออกเชิงพาณิชย์ออกไปเป็นช่วงประมาณไตรมาส 2/64 จากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาส 3/63 เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG HUB) ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นปริมาณการนำเข้าและส่งออกที่คึกคักมากขึ้นในปี 65 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส-19 (Covid-19)

              ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคลดลง และการเจรจากับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงจีนตอนใต้ยังติดขัดอยู่บ้าง อีกทั้งราคานำเข้า LNG จากตลาดจร (spot) ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงประมาณ 7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งอาจยังไม่เหมาะสมในการทำตลาดช่วงนี้ แต่หากราคาปรับลดลงมาต่ำที่ประมาณ 3-4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ที่คาดว่าจะเกิดในช่วงหน้าร้อนก็น่าจะจูงใจให้เกิดการนำเข้าเพื่อส่งออกได้

              “ความคืบหน้าการเป็นน LNG HUB นั้น  ล่าสุดมีการทดสอบการนำเข้าและส่งออกไปเรียบร้อยแล้ว  โดยทุกองค์ประกอบมีความพร้อม  แต่สถานการณ์ราคา spot LNG ในเวลานี้มีราคาปรับสูงขึ้น  ทำให้ลุกค้าชะลอการซื้อ LNG ดังนั้น  จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ทางด้านราคาอย่างใกล้ชิด” 

พิษโควิด-19 ฉุดแผนส่งออก LNG ของ “ปตท.” เลื่อนเป็นไตรมาส 2/64

              ส่วนการนำเข้าก๊าซ LNG ในประเทศปี 64 น่าจะมีระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา  ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5.5-5.6 ล้านตันต่อปี  โดยมาจากสัญญาระยะยาวประมาณ 5.2 ล้านตัน  และเป็น spot LNG ประมาณ 4-5 แสนตันทั้งจาก ปตท. และภาคเอกชน  ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ ปตท. ได้นำเข้าแบบ spot ได้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จต้องขึ้นอยู่กับสภาพตลาด  และราคาด้วยว่าเป็นอย่างไร  เพื่อพิจารณาหาราคาในการนำเข้าที่เหมาะสมว่าควรจะอยู่ที่ระดับเท่าใด

อย่างไรก็ดี  การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลทำให้ยอดการใช้ก๊าซ LNG ปีนี้ลดลง 8-10% จากปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดหามาจากอ่าวไทย  ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างคงที่  และมีที่เมียนมาร์อยู่บ้าง  โดยยอด LNG ปีนี้โดยรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.5-5.6 ล้านตันต่อปี  ซึ่งมาจากสัญญาระยะยาวประมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี  ส่วนที่เหลืออีกระมาณ 4-5 แสนตันมาจากการซื้อแบบ spot โดย ปตท. ใช้โอกาสในการที่ spot ราคาเฉลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 2.5 เหรียญสหรัฐฯ  ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำนำเข้ามา

              “จากราคาดังกล่าวมีส่วนช่วยลดราคาค่าเอฟที  เพราะการจัดหาพลังงานที่มีราคาถูกเข้ามา  ส่วนการใช้ LNG นั้นมีปริมาณคงที่  ทั้งโรงแยกก๊าซ  ในภาคอุตสาหกรรม  และไฟฟ้าโดยมี่ปีหน้าปริมาณความต้องการก็น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้”

              นายวุฒิกร กล่าวต่อไปอีกว่า ยุทธศาสตร์ในอนาคตนั้น  ปตท. จะพยายามหา LNG มาบริหารจัดการให้เพียงพอกับความต้องการใช้งาน รวมถึงให้สามารถแข่งขันได้  และสามารถตอบโจทย์รักษาการเดินเครื่องโรงแยกก๊าซในระยะยาว  ส่วนการขยายในอนาคตยังมองภาพของการเติบโตในตลาดต่างประเทศ  และตลาดใหม่  รวมถึงการขยายการทำพอร์ตโฟลิโอ ในเรื่องของ LNG

สำหรับโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 บางส่วนมีกำหนดแล้วเสร็จปลายปีนี้ และบางส่วนจะแล้วเสร็จกลางปีถึงปลายปีหน้า  อย่าไรก็ดี  ในเฟสแรกได้มีการเริ่มจ่ายก๊าซให้กับโรงไฟฟ้า IPP โรงใหม่ ได้แก่ Gulf SRC แล้วบางส่วนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

              อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าปัจจุบัน ปตท. เริ่มเข้าไปทำตลาดในการนิคมอุตสาหกรรมที่จำหน่ายก๊าซอยู่แล้ว  โดยจะเห็นว่าโรงงานใดที่ให้ความสนใจในการติดตามโซลาร์รูฟ (solar roof) ปตท. ก็จะเข้าไปนำเสนอโซลูชั่นที่เป็นการจำหน่ายก๊าซ  และการจำหน่ายพลังงานทดแทนด้วย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลังงานของภาคอุตสาหกรรม