“ปตท.” เชื่อ “โจ ไบเดน” ชนะส่งรายได้ปี 64 เพิ่มขึ้น

09 พ.ย. 2563 | 07:15 น.

“ปตท.”คาดการณ์ราคาน้ำมันปีหน้าอยู่ระดับ 40-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เชื่อรายได้ปี 64 เพิ่มขึ้น

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.” (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกในระยะสั้นจนถึงระยะกลางคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาเรล  สูงขึ้นกว่าที่ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ  41-42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาเรล โดยเชื่อว่าจะส่งผลให้รายได้ของ ปตท. ปี 64 มีทิศทางที่ดีขึ้น จากยอดขายน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น  ตามทิศทางของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากการที่ “โจ ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“โจ ไบเดน ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองได้ดี  มีการปรับตัวที่ดีขึ้น  เนื่องจากมองว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนน่าจะคลี่คลายลง  แม้อาจจะไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว  แต่อาจจะมีความแน่นอนมากขึ้น”

“ปตท.” เชื่อ “โจ ไบเดน” ชนะส่งรายได้ปี 64 เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้  นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล ก็น่าจะทำให้การผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิสจากสหรัฐฯออกมาน้อยลง  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทิศทางราคาที่จะปรับเข้าสู่สมดุล รวมถึงนโยบายจัดเก็บภาษีจากผู้มีรายได้มากให้สูงขึ้นและหันไปเพิ่มค่าจ้างแรงงานระดับล่างก็จะกระตุ้นกลุ่มฐากรากให้มีกำลังซื้อมากขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจให้เติบโต
 

อย่างไรก็ตาม การกำหนดนโยบายด้านภาษีของ โจ ไบเดน อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ซึ่งก็จะกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มองน่าจะชดเชยกันได้กับเศรษฐกิจโลกที่ดี  โดยจะช่วยจะหนุนการส่งออกของไทยให้ดีขึ้นด้วย

“การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก  แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะขยับสูงเล้กน้อย  โดยมองว่าราคาน้ำมันในระยะข้างหน้าก็น่าจะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับราคาในปัจจุบัน”

นายอรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีหน้านั้น  จะใช้เป็นสมมติฐานการจัดทำงบประมาณและแผนงานของ ปตท.ด้วย โดยเตรียมนำแผนงานและงบลงทุน 5 ปี (ปี 64-68) เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท.ในเดือนธันวาคมนี้

“สถานการณ์ความต้องการใช้น้ำมันภาคพื้นทั้งเบนซินและดีเซลเริ่มกลับมาปกติหลังชะลอไปช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่น้ำมันอากาศยานยังฟื้นตัวกลับมาไม่ถึง 50% ซึ่งที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.บริหารจัดการในการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 3 แห่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ผลิตน้ำมันอากาศยานเพียงรายเดียวในขณะนี้ ส่วนบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ไม่ได้ผลิตน้ำมันอากาศยานเลยในปัจจุบัน”