ดันทุรัง ประมูล รถไฟฟ้า"สายสีส้ม"

06 พ.ย. 2563 | 08:09 น.

รฟม.-คณะกรรมการตามมาตรา 36 ดังทุรัง เดินหน้า ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ประกาศ ให้เอกชนยื่นซองตามแผนเดิมดีเดย์ 9พ.ย.นี้ ไม่สน ศาลปกครองกลวง สั่ง ทุเลาปมรื้อเกณฑ์ทีโออาร์

ยังไม่มีความชัดเจน ว่า จะยึดเกณฑ์ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีบุรี) ฉบับเดิมหรือตามเกณฑ์ที่ได้รื้อใหม่ แต่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กลับดันทุรังประกาศเดินหน้า ให้เอกชนยื่นซองตามกำหนดวันเวลาเดิม วันที่ 9 พฤศจิกายน ตามมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal

Document : RFP) ฉบับแก้ไขใหม่ เนื่องจากฝ่ายกฎหมาย รฟม. ตีความ ว่า คำสั่งศาลเป็นคำสั่งทุเลาเฉพาะการใช้เกณฑ์ทีโออาร์ใหม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอแต่อย่างใด

                ดังนั้น  บอร์ดตามมาตรา 36 จึงมีมติให้รฟม.เดินหน้าเปิดยื่นเอกสาร ตามวันเวลาดังกล่าว และคาดว่าจะกำหนดเปิดซอง 1 ซึ่งเป็นซองคุณสมบัติ ได้ ภายใน 14 วัน นับจากวันยื่นซอง ส่วนซอง 2 ซองเทคนิคร่วมกับราคา พิจารณาสัดส่วน คะแนนเทคนิค 30% ราคา 70% นั้น รฟม. มีแผนตั้งรับ เพื่อรอคำสั่งอุทธรณ์ที่รฟท.ยื่นฟ้องสวนกลับกรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  (BTSC) ขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน อีกทั้งยังรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ว่าจะมีคำสั่งชี้ขาดออกมาทางใด หากมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางให้ทุเลาการใช้เกณฑ์การปรับปรุงใหม่ เท่ากับว่า รฟม.และ คณะกรรมการ ตามมาตรา 36 ต้อง ม้วนแผน กลับไปใช้เงื่อนไขทีโออาร์เดิม หรืออาจถึงขั้นล้มประมูลนับหนึ่งใหม่ ส่งผลให้เสียเวลาเสียงงบประมาณตามมา 

                ดันทุรัง ประมูล รถไฟฟ้า"สายสีส้ม"

 

 

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงผู้รับเหมาต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากศาลปกคลองกลางมีคำสั่งใดๆออกมา รฟม.และคณะกรรมการ มาตรา 36 ควรยุติทุกขั้นตอนการยื่นซองไว้ก่อน จนกว่าคำสั่งอุทธรณ์ ตามที่ รฟม. ยื่นฟ้องสวน และคำสั่งชี้ขาด ศาลปกครองสูงสุดจะออกมา 

                ไม่เพียงเท่านั้น คณะกรรมการตามมาตรา 36 ยังมีมติ แต่งตั้งคณะกรรมการรับข้อเสนอฯ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรจากฝ่ายต่างๆ ประมาณ 5 คน ได้แก่ ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง, ฝ่ายพัฒนาโครงการ, ฝ่ายบัญชี และฝ่ายการเงิน โครงการสายสีส้ม เต็มรูปแบบ ท่ามกลางเสียงคัดค้านองค์กรต่างๆ ต่อปมการรื้อเกณฑ์ประมูลครั้งนี้ว่า อาจส่อไปในทางทุจริตเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่ม  ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) และเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ  (ส.ท.ช.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเอาผิด ผู้ว่ารฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 รถไฟฟ้าสายสีส้ม เนื่องจากมีพฤติการณ์ไม่โปร่งใสเช่นเดียวกับ นายสามารถราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซ บุ๊กส่วนตัว ท้วงติง รฟม.และคณะกรรมการ ตามาตรา 36 ที่ว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้รื้อเกณฑ์ทีโออาร์ เนื่องจากเอกชนซื้อซองไปแล้วอาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ  

             

 

 

   เช่นเดียวกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ก่อนหน้านี้มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบปมฉาวเรื่องนี้เป็นการด่วน รวมถึงกลุ่มบีทีเอสที่ นอกเหนือจากการยื่นฟ้องศาลปกครองแล้วยัง ยื่นเรื่องไปยังองค์กรต้านคอร์รัปชันอีกชั้นหนึ่งด้วย แม้ว่า องค์กรณ์นี้จะไม่มีอำนาจชี้ขาด ทางกฎหมายแต่ มีผลต่อสิ่งที่สะท้อนออกสู่สังคมสาธารณะให้รับรู้รับทราบ  

                คงต้องจับตาว่า ในที่สุดแล้ว ปมร้อนรื้อเกณฑ์ประมูลสายสีส้มมูลค่า 1.42 แสนล้าน จะจบลงอย่างไร

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3625