กรมชลฯเร่งระบายน้ำลดผลกระทบเมืองโคราช เฝ้าระวัง 24 ชม.

19 ต.ค. 2563 | 08:30 น.

กรมชลประทานสู้ไม่ถอย เร่งระบายน้ำลดผลดระทบเมืองโคราช พร้อมเฝ้าระวัง 24 ชม.

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกในบริเวณเขาใหญ่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (19 ต.ค. 63) เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 319.33 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 101.54% มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 16.14 ล้าน ลบ.ม. ยังคงปิดการระบาย แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างฯลดลง ส่วนระดับน้ำในลำตะคองยังคงต่ำกว่าตลิ่งทุกพื้นที่ ปริมาณน้ำในลำตะคองที่ไหลผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เริ่มทรงตัวมีแนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้วางแผนผันน้ำส่วนหนึ่งไปเก็บไว้ในบึงพุดซา เพื่อเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้ง และช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขตอ.เมืองนครราชสีมา พร้อมกับเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปภ.เตือน 23 จังหวัดเฝ้าระวัง"น้ำท่วม"

เช็กด่วน จังหวัดไหนเสี่ยงฝนตกหนักวันนี้(19 ต.ค.63)

"จิสด้า"เผยภาพดาวเทียม "น้ำท่วมโคราช"กว่า 4 หมื่นไร่

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำพระเพลิง ปัจจุบัน(19 ต.ค. 63) มีปริมาณน้ำ 167.50 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 108 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 2.74 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำฉุกเฉิน(Spillway) ประมาณ 10.74 ล้าน ลบ.ม./วัน ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งคลองระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ส่วนพื้นที่เขตเศรษฐกิจเมืองปักธงชัยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบริเวณเขาใหญ่ยังคงมีฝนตกเป็นระยะๆ

กรมชลฯเร่งระบายน้ำลดผลกระทบเมืองโคราช เฝ้าระวัง 24 ชม.

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างใกล้ชิด โดยได้เตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือได้ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1460 ได้ตลอดเวลา

กรมชลฯเร่งระบายน้ำลดผลกระทบเมืองโคราช เฝ้าระวัง 24 ชม.

ในส่วนของความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนลำตะคองและเขื่อนลำพระเพลิง นั้น กรมชลประทาน ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยเขื่อน เข้าทำการตรวจสอบสภาพของเขื่อนทั้งสองแห่งแล้ว ขอยืนยันว่าเขื่อนทั้ง 2 แห่ง อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงดี สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

ที่มา : ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์