“โควิด”ดัน โคบอทส์ หนุนอุตฯสุขภาพ     

10 ต.ค. 2563 | 04:23 น.

บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท (Universal Robots: UR) ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากประเทศเดนมาร์กและเป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน หรือที่เรียกว่า “โคบอทส์” (Collaborative robots: Cobost) ที่ออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ ได้แนะบรรดาผู้นำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์จากระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อรับมือกับความท้าทายจากภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด -19

ปัจจุบันโคบอทส์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมหาศาลในการต่อสู้ระดับโลกกับ โควิด -19 ซึ่งการปรับใช้โคบอทส์ของบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท เพื่อรับมือกับภาวะการระบาดใหญ่นั้นได้ครอบคลุมในอุตสาหกรรมแนวหน้าที่สำคัญต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การทดสอบทางการแพทย์ การจัดการด้าน
สุขอนามัย การฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการผลิต
และทำให้การดำเนินงานมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น
“โควิด”ดัน โคบอทส์ หนุนอุตฯสุขภาพ     
นายดาร์เรลล์ อดัมส์ หัวหน้าผู้ดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียของบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท กล่าวว่าการระบาดของ โควิด -19 ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ บริษัทต่างๆ ทั่วโลกและในสิงคโปร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวเพื่อรับมือกับความเป็นจริงใหม่นี้ให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานก็กำลังได้รับการส่งเสริมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับขั้นตอนการปฏิบัติงานในมาตรฐานใหม่ ซึ่งรวมถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพและการสัมผัสกับมนุษย์ให้น้อยที่สุด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์หรือหุ่นยนต์ร่วมปฎิบัติงาน ที่เรียกว่า “โคบอทส์” ถูกวางตัวให้รับมือกับความท้าทายเหล่านี้”

การลดการติดต่อของมนุษย์และการปกป้องผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จาการติดเชื้อ ทำให้แอพพลิเคชันด้านโคบอทส์ในด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและออกมาให้เห็นทั่วโลกในปีนี้
     
ภารกิจสุขอนามัย-ฆ่าเชื้อ
เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อและการทำความสะอาดอย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่ต้องมีการสัมผัสของมนุษย์โดยตรงในบริเวณที่อาจเกิดการติดเชื้อกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University: NTU) ในสิงคโปร์ได้เปิดตัว eXtremeDisinfection ro BOT (XDBOT) ซึ่งประกอบด้วย โคบอท ยูอาร์ 5 (UR5) ที่มาพร้อมหัวฉีดพ่นระบบไฟฟ้าสถิตและติดตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มแบบเคลื่อนที่ได้ โดยโคบอทส์ถูกตั้งโปรแกรมให้เลียนแบบการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์เพื่อให้สามารถเข้าไปยังบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น ใต้เตียงและใต้โต๊ะบ
  

โคบอทส์ตรวจทดสอบโควิด

นายเอสเบน ออสเตอร์การ์ด ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ได้พัฒนาหุ่นยนต์ป้ายลำคอตัวแรกของโลกขึ้นภายใต้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก (University of Southern Denmark: SDU) หุ่นยนต์ตัวนี้ใช้แขนโคบอท ยูอาร์ 3 (UR3) ที่ติดตั้งพร้อมกับปลายแขนกลซึ่งสามารถออกแบบและสร้างขึ้นได้ตามต้องการโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยโคบอทส์รุ่นนี้ช่วยให้กระบวนการตรวจป้ายลำคอสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในเวลา 7 นาที และใช้เวลาเพียง 25 วินาทีในการล้างทำความสะอาดตัวเอง

นอกจากนี้บริษัท เบรน เนวี่ ไบโอเทคโนโลยี (Brain Navi 
Biotechnology)
ประเทศไต้หวันได้พัฒนาหุ่นยนต์เก็บตัวอย่างอัตโนมัติด้วยวิธีการล้วงเข้าไปในโพรงจมูกตัวแรกของโลก โดยใช้โคบอท ยูอาร์ (UR) โคบอท รุ่นนี้สามารถจดจำโครงสร้างใบหน้าของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถระบุตำแหน่งของโพรงจมูก ถือไม้ป้ายโพรงจมูก (ลักษณะเหมือนไม้พันสำลีแบบยาว) โดยใช้มือหุ่นยนต์จับ แล้วแทงไม้ป้ายเข้าไปในช่องจมูกของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติและค้างอยู่ประมาณ 10 ถึง 25 วินาทีเพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างสารคัดหลั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาดำเนินการเพียง 2-5 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้สามารถเก็บตัวอย่างได้เกือบ 100 คนภายในเวลา 8 ชั่วโมง กระบวนการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์ จะมีก็เพียงแค่ขั้นตอนการตั้งค่าการสแกนตำแหน่งใบหน้าเริ่มต้นเท่านั้นที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ยืนอยู่หลังแผงป้องกัน

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ป้ายลำคอและโพรงจมูกจะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้วยการลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อ ณ จุดที่ทำการทดสอ

แม้ว่าโคบอทส์จะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีสัดส่วนเพียง 3% ของการใช้จ่ายด้านหุ่นยนต์ทั่วโลกในปี 2561 แต่ ณ ปัจจุบันโคบอทส์ กลับมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วสูงสุดในภาคส่วนของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทั้งนี้เป็นที่คาดกันว่า ภายในปี 2568 อัตราการเติบโตของโคบอทส์จะก้าวกระโดดจากที่จำกัดแค่ในตลาดเฉพาะทางไปเป็นผลิตภัณฑ์กระแสหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 34 %ของการใช้จ่ายด้านหุ่นยนต์ทั่วโลก 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,617 วันที่ 11 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563