UBS เผยมหาเศรษฐียิ่งรวยขึ้นช่วงโควิดระบาด

08 ต.ค. 2563 | 03:17 น.

ผลการสำรวจของ UBS พบว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มหาเศรษฐีมีความร่ำรวยเพิ่มมากขึ้น และขณะเดียวกันธนาคารโลกก็มีรายงานว่า โควิด-19 ส่งผลให้ประชากรโลกที่จนอยู่แล้ว ยิ่งจนลงสู่ระดับรุนแรง

ยูบีเอส โกลบอล เวลธ์ แมเนจเมนท์ (UBS) เปิดเผย รายงานสำรวจความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีกว่า 2,000 คน ซึ่งพบว่า มหาเศรษฐีเหล่านี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นกว่า 25% ในช่วงเดือนแรกๆ ที่โควิด-19 แพร่ระบาด โดยมีมูลค่าความมั่งคั่งอยู่ที่ 10.2 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ทำลายสถิติเดิมของเดือนธ.ค.2562 ซึ่งอยู่ที่ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ 

UBS เผยมหาเศรษฐียิ่งรวยขึ้นช่วงโควิดระบาด

ทั้งนี้ ตัวเลขความมั่งคั่งล่าสุดนั้นเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จากฐานข้อมูลที่รวบรวมโดย UBS และ PwC โดยในช่วงที่เริ่มเก็บข้อมูลนั้น มูลค่าความมั่งคั่งเกินระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

รายงานเผยว่า ในช่วงวันที่ 7 เม.ย. - 31 ก.ค. ของปีนี้ มหาเศรษฐีในทุกอุตสาหกรรมมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นที่ระดับเลขสองหลัก โดยมหาเศรษฐีในภาคธุรกิจเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ และภาคอุตสาหกรรม มีระดับความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยอยู่ระหว่าง 36%-44% ซึ่งการเกิดโรคระบาดเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มหาเศรษฐีในกลุ่มนี้มั่งคั่งเพิ่มขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งชัตดาวน์ยิ่งรวย 5 วันบิ๊ก “แอมะซอน”โกยเพิ่ม 7.8 แสนล้าน

หน้าตาที่เปลี่ยนไป ของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด-19 (จบ)

เวิล์ดแบงก์ชี้พิษโควิด ทำศก.เอเชียใต้ต่ำสุดในรอบ 40 ปี

 

UBS ยังเผยด้วยว่า ในช่วงปี 2561 จนถึงเดือนก.ค. 2563 มหาเศรษฐีในภาคธุรกิจเทคโนโลยีมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 42.5% แตะที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มหาเศรษฐีในภาคธุรกิจการดูแลสุขภาพ มีความมั่งคั่งสูงขึ้น 50.3% สู่ระดับ 6.586 แสนล้านดอลลาร์

และในขณะเดียวกัน ธนาคารโลก หรือ “เวิลด์แบงก์” ได้เปิดเผยรายงานว่า โรคระบาดโควิด-19 ได้ฉุดให้ประชากรโลก 150 ล้านคน ต้องตกอยู่ในภาวะยากจนรุนแรง

UBS เผยมหาเศรษฐียิ่งรวยขึ้นช่วงโควิดระบาด

รายงานของธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (8 ต.ค.) ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ประชากรโลกจำนวน 150 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนอย่างรุนแรงภายในสิ้นปีหน้า (2564) ซึ่งจะทำให้ความคืบหน้าในการลดความยากจนของประชากรโลกในระยะกว่า 3 ปีที่ผ่านมาต้องกลายเป็นความสูญเปล่า

 

ธนาคารโลกระบุว่า ประชากรโลกอีกราว 88-115 ล้านคนจะเผชิญภาวะยากจนอย่างรุนแรงในปีนี้ (2563) ซึ่งพวกเขาจะดำรงชีวิตด้วยรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน และจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคนภายในสิ้นปีหน้า

 

นั่นหมายความว่า ประชากรโลกจำนวน 9.1-9.4% จะเผชิญภาวะยากจนอย่างรุนแรงในปีนี้ ใกล้เคียงกับในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 9.2% และบ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีของอัตราประชากรโลกที่เผชิญภาวะยากจนอย่างรุนแรง

 

ทั้งนี้ อัตราประชากรโลกที่เผชิญภาวะยากจนอย่างรุนแรงในปี 2562 ที่ผ่านมานั้น อยู่ที่ 8.4% และมีการคาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 7.5% ในปีหน้า ซึ่งเป็นการคาดการณ์ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่มีการดำเนินการด้านนโยบายที่เอาจริงเอาจัง สิ่งนี้ก็จะทำให้การบรรลุเป้าหมายการลดอัตราประชากรโลกที่เผชิญภาวะยากจนอย่างรุนแรงให้ลงมาสู่ระดับ 3% คงเป็นเรื่องที่ห่างไกลออกไป