ลุ้นศบศ.เคาะพักหนี้ SMEs ต่ออีก 2 ปี

07 ต.ค. 2563 | 05:01 น.

สภาพัฒน์รับลูกสภาอุตฯ ชง ศบศ.เคาะพักหนี้เอสเอ็มอีอีก 2 ปี จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 10% “สุพันธุ์” ชี้กระทบรายได้แบงก์บ้างแต่ต้องช่วยต่อลมหายใจ หลังภาพรวมยังขาดสภาพคล่อง

 

มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) แบบเป็นการทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2563 นี้ มีกระแสข่าว ธปท. จะไม่พิจารณาต่ออายุมาตรการดังกล่าว เนื่องจากลูกหนี้บางกลุ่มยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ หากออกมาตรการเป็นการทั่วไป จะมีผลข้างเคียงและกระทบต่อวินัยทางการเงินของลูกหนี้ได้นั้น

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการพักชำระหนี้ยังมีความจำเป็น โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบศ.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 หนึ่งในเรื่องสำคัญที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช./สภาพัฒน์) ได้รวบรวมข้อเสนอจากเอกชนเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งนี้ คือการขอพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อไปอีก 2 ปี เนื่องจากเวลานี้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาสภาพคล่อง

 

ทั้งนี้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ (เงินต้น) ขอให้จ่ายดอกเบี้ย 10% ของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นหากลูกหนี้เริ่มฟื้นตัว หรือเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ทางสถาบันการเงินอาจขอให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

 

“การพักหนี้ออกไป 2 ปีแบงก์อาจได้รับผลกระทบต่อรายได้ แต่ถือมีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือ ซึ่งแบงก์สามารถแยกแยะลูกค้าได้ โดยรายที่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ก็ให้เขาจ่ายไปเรื่อยๆ และอาจปรับการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหากธุรกิจเขาดีขึ้น โดยไม่ต้องตั้งสำรอง ส่วนรายที่จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ก็ต้องเรียกคุย มีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ หรือปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายๆ ไป เรื่องข้างต้น ส.อ.ท.ได้นำเสนอต่อสภาพัฒน์ไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งสภาพัฒน์จะได้นำเสนอในการประชุม ศบศ.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป”

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าควรที่จะมีการยืดพักชำระหนี้ให้กับเอสเอ็มอีออกไปอีก 2 ปี เพราะเชื่อว่าหลังสิ้นเดือนตุลาคมแล้ว น่าจะยังไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการนัดหารือกับ ส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงเรื่องดังกล่าวภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้พิจารณานำข้อเสนอผลักดันผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อให้เรื่องดังกล่าวมีนํ้าหนักในการถูกนำไปพิจารณาจาก ธปท. เพื่อออกเป็นนโยบายให้สถาบันการเงินได้ปฏิบัติตาม เบื้องต้นกลุ่มที่ควรพิจารณาช่วยเหลือมากที่สุดคือ กลุ่มเอสเอ็มอีที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติอยู่แล้วก่อนหน้านี้ โดยไม่มีปัญหาการผ่อนชำระหนี้ แต่กิจการต้องหยุดชะงักหลังโควิดระบาด 

 

อีกมาตรการสำคัญที่เห็นว่าควรต้องดำเนินการคือ การขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คํ้าประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่มการชดเชยความเสียหาย (max claim) จาก 30% เป็น 50% เพื่อให้สถาบันการเงินกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศบศ.ต่อไป

 

อนึ่ง จากมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินผ่านมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือในการพักหนี้รวม 12.82 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 6.88 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด โดยกลุ่มเอสเอ็มอีมีมูลหนี้ถึง 2.25 ล้านล้านบาท จำนวน 1.17 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ขอธปท.ในเดือนตุลาคมนี้

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 2 ฉบับที่ 3616 วันที่ 8-10 ตุลาคม 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แบงก์ชาติจัดหนักพักหนี้SMEs6เดือน ฉีดเงินกู้เพิ่ม5แสนล.

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่

หนุนแบงก์ปล่อยกู้เพิ่มหลังครบพักหนี้