ปฎิรูปสู่เศรษฐกิจใหม่ ต้องรื้อ “ระเบียบกฎหมายล้าหลัง”

01 ต.ค. 2563 | 06:00 น.

ปฎิรูปสู่เศรษฐกิจใหม่ ต้องรื้อ “ระเบียบกฎหมายล้าหลัง” : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3614 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-3 ต.ค.2563

 

 

 

ภาพสังคมเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิดจะเป็นอย่างไร เวลานี้ยังไร้คำตอบที่ชัดเจน เมื่อดุลยภาพเศรษฐกิจใหม่ยังไม่เกิด จากเหตุเชื้อโควิด-19 ระดับโลกยังระบาดขยายตัวเป็นขาขึ้น โดยทั่วโลกต่างเฝ้ารอผลสำเร็จการวิจัยวัคซีนที่กำลังเร่งมือแข่งกัน โดยคาดหวังว่าจะประสบผลสำเร็จภายในปีนี้ แต่กว่าจะผลิตได้และได้ใช้อย่างทั่วถึงก็ยังต้องใช้เวลาอีกระยะ
 

แรงกระแทกวิกฤติโควิด-19 ไม่เพียงกระทบด้านสาธารณสุข แต่เขย่าไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทำให้เศรษฐกิจชะลอและทรุดตัว ผู้คนสูญเสียงานและอาชีพ รายได้หดหาย ธุรกิจต้องปรับตัวหนีตาย และเผยให้เห็นปัญหาใหญ่ 3 ด้านของเศรษฐกิจไทย คือ ผลิตภาพต่ำ ภูมิคุ้มกันต่ำ ขาดความสามารถในการรับมือวิกฤติ อันเป็นผลมาจากการเติบโตแบบกระจุกตัว เหลื่อมล้ำ และกฎเกณฑ์ภาครัฐปิดทางรายเล็กหน้าใหม่แข่งกับเจ้าใหญ่รายเดิม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 เรื่อง “ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง” ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยไม่ใช่ทางเลือก แต่ต้องลงมือทำถ้าจะอยู่รอด โดยการเยียวยาฟื้นฟูระยะสั้น ต้องสอดคล้องกับทิศทางระยะยาว โดยปรับเพิ่มน้ำหนักจากเยียวสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพิ่มขึ้น มาตรการรัฐต้องไม่เหวี่ยงแหที่จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก
 

ผู้ว่าการ ธปท. รับว่า การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องโยกย้ายทรัพยากรข้ามภาคธุรกิจ ที่ผ่านมาทำได้ยากและต้นทุนสูง เพราะติดข้อจำกัดกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่มีความซ้ำซ้อน ไม่ยืดหยุ่น และมีกฎระเบียบที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งระเบียบกฎหมายนั้นแข็งตัว แก้ไขยากและใช้เวลานาน ทำให้ผู้ปฏิบัติลดความเสี่ยงเลี่ยงทำเรื่องใหม่ๆ
 

เรื่องระเบียบข้อกฎหมายที่กลายเป็นกรอบจำกัดการทำงานให้บรรลุผล เห็นชัดจากสารพัดมาตรการรัฐเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม ที่ออกมาด้วยวงเงินนับแสนล้านบาท อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ (ซอฟท์โลน) ผู้ประกอบการรายเล็ก แต่ผลตอบรับมีผู้เข้าใช้บริการเพียงจำกัด ได้รับอนุมัติสินเชื่อเป็นสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายตามแผนงาน  

เหตุจากขณะที่ผ่อนเกณฑ์ด้านดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ แต่ไม่คลายเกณฑ์ให้แก่ธนาคารซึ่งเป็นผู้พิจารณาปล่อนสินเชื่อ พนักงานแบงก์จึงใช้เกณฑ์ปกติในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ เพราะหากเกิดความเสียหายเป็นหนี้เสียขึ้นมา ผู้อนุมัติต้องรับผิดชอบ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาของสถาบันการเงิน
 

ระเบียบกฎเกณฑ์นั้นเดิมวางไว้เป็นกรอบปฏิบัติเพื่อความเป็นธรรม พอเวลาผ่านไปสภาพแวดล้อมเปลี่ยนกติกาเดิมกลายเป็นข้อจำกัดการปฏิบัติ ขณะที่โลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าไปมาก มีระบบปฏิบัติการ(แพลตฟอร์ม) ต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้แทนได้ เพื่อสร้างกติกาการแข่งขันได้อย่างคล่องตัวและมีต้นทุนถูกกว่า
 

ปฏิรูปไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ต้องรื้อกติกาคร่ำครึที่เป็นข้อจำกัดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติจากโควิด-19 จะมัวรอบริหารงานแบบปกติในภาวะที่ไม่ปกติอย่างนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว