“กนอ.” มอบธงขาว-ดาวเขียว เชิดชูโรงงานดูเลสิ่งแวดล้อม

26 ก.ย. 2563 | 03:20 น.

“กนอ.” มอบธงขาว-ดาวเขียว ปี 62 ชู 123 โรงงาน ผ่านเกณฑ์ดี 67 โรงงานอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม รับธงขาว-ดาวทอง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย หรือธงขาว-ดาวเขียว (Green Star Award) เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเป็นองค์กรที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดย กนอ. ได้ดำเนินการจัดพิธีมอบธงธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ธงขาว-ดาวเขียว) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550- 2562

ทั้งนี้ มีโรงงานที่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินอยู่ในเกณฑ์ดี (ธงขาว-ดาวเขียว)-ดีเยี่ยม (ธงขาว-ดาทอง) รวมทั้งสิ้น 1,303 โรง ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ภาคตะวันออก(มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

“กนอ.” มอบธงขาว-ดาวเขียว เชิดชูโรงงานดูเลสิ่งแวดล้อม

สำหรับปี 2562 มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านเกณฑ์การประเมินด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในเกณฑ์ดี และรับมอบธงขาว-ดาวเขียว จำนวน 123 โรง และมอบธงธรรมาภิบาลฯ ให้กับสถานประกอบการที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี หรือ ธงขาว-ดาวทอง(Gold Star Award) นับจากปีที่ประเมิน (2557-2562) รวมทั้งสิ้น 67 แห่ง สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่ยอมรับได้ของภาคประชาชนและยังเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับ นักลงทุนไทยและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของเกณฑ์การประเมินฯ คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนลดและขจัดมลพิษ และคณะทำงานตรวจประเมินโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กนอ.ผู้พัฒนานิคมฯ ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น สื่อท้องถิ่น และชุมชนโดยรอบนิคมฯ ทั้งในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลบ้านฉาง และกลุ่มประมงเรือเล็ก ได้กำหนดเกณฑ์การประเมินไว้ 10 ด้าน คือ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการด้านขยะ/กากของเสีย

การจัดการระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ การจัดการไอระเหยสารเคมีและสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสภาพพื้นที่การทำงาน การบริหารจัดการด้านลดอุบัติเหตุ/อุบัติภัยและข้อร้องเรียน การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว ก การจราจรขนส่ง (วัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์) และความครบถ้วน ถูกต้องของข้อมูล และระบบการจัดการตามมาตรฐานสากล ขณะเดียวกัน กนอ.ยังกำหนดเกณฑ์การตรวจประเมินด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรอบนิคมฯ มีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคงอย่างยังยืนควบคู่ไปกับภาคอุตสาหกรรมไทย อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ปี 2562 มีโรงงานที่ได้รับมอบธงธรรมาภิบาลธงขาว–ดาวเขียว จำนวนทั้งสิ้น 123 แห่ง แบ่งออกเป็น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จำนวน 55 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) จำนวน 37 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมผาแดง จำนวน 2 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จำนวน 13 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จำนวน 5 โรงงาน และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จำนวน 11 โรงงาน และได้รับมอบธงธรรมาภิบาลธงขาว– ดาวทอง

โรงงานที่รักษามาตรฐานในการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปีต่อเนื่อง (2557-2562) จำนวน 67 โรงงาน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จำนวน 26 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) จำนวน 20 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมผาแดง จำนวน 1 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำนวน 10 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จำนวน 4 โรงงาน และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จำนวน 6 โรงงาน

“กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมผลักดันให้โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในด้านต่างๆที่ได้มาตรฐาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมและใกล้เคียงต่อไป”