กมธ.ชงตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ

10 ก.ย. 2563 | 07:36 น.

“พีระพันธุ์”แจงผลศึกษาแนวทางแก้รธน. ตั้งส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำประชามติ ถ่วงดุลการใช้อำนาจศาล ตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ 

 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้(10 ก.ย.63) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอรายงานของกรรมาธิการฯ ตอนหนึ่งระบุ หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาหาข้อมูล ประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม และรวบรวมความเห็นอย่างรอบด้านเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีความคิดใดถูกหรือผิดเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก จึงเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขส่วนอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาได้ง่ายขึ้น

 

นอกจากนั้น  เสนอปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติให้เร็วขึ้นเป็นทุก 1-2 ปี เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

 

การเสนอการเลือกตั้งให้กลับไปเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคือ ส.ส.เขต มี 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เพราะเห็นว่าแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความเหมาะสม และไม่เห็นด้วยให้เสนอชื่อนายกฯ ไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ยกเลิกวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือแก้ไขวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น

 

 ส่วนสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ควรให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และข้าราชการระดับสูงได้ ตลอดจนให้แก้ไขที่มาส.ว. ไม่ให้เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีไม่สามารถดำรงตำแหน่งส.ส.ได้ในเวลาเดียวกัน

 

ในส่วนการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ควรมีระบบในลักษณะการถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตยระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มิใช่ให้ฝ่ายตุลาการตรวจสอบกันเอง ขณะที่ฝ่ายตุลาการสามารถตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้

                                                  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"วิษณุ" เปิดไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ ชี้แจงเหตุผลทำไมใช้เวลานาน

 

 

นอกจากนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติควรมีอำนาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในคำพิพากษา คำชี้ขาดของตุลาการได้ในหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกันและกัน รวมถึงบัญญัติให้ผู้พิพากษา ตุลาการ สามารถถูกกล่าวหาต่อป.ป.ช. กรณีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบได้

 

ส่วนหมวดศาลรัฐธรรมนูญนั้น ควรให้รัฐสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนมีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้ในบางกรณีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ขณะเดียวกันควรกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจและอำนาจขององค์กรอิสระให้เหมาะสมมากขึ้น และกรรมการองค์กรอิสระก็ไม่ควรดำรงตำแหน่งนานเกินไป

 

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 นั้น เสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรยกเลิกเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียงส.ว.เห็นชอบ 1 ใน 3 เป็นการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจากประชาชน มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ 2 และจัดให้มีการออกเสียงประชามติหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว

 

 

ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศ ควรนำออกจากรัฐธรรมนูญไป เพราะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ และล่าช้า ควรกำหนดให้การปฏิรูปประเทศไปอยู่ในกฎหมายรองๆ ลงไป

 

ขณะที่บทเฉพาะกาล มาตรา 269 เรื่องที่มาส.ว.นั้น มีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ 1.ยกเลิกวุฒิสภาที่มาจากบทเฉพาะกาลตามมาตรา 269 และ 2.วุฒิสภาชุดปัจจุบันให้ทำหน้าที่ต่อไปจนครบ 5 ปี แต่อาจปรับบทบาทหน้าที่ เช่น เรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ขณะที่มาตรา 272 เรื่องการให้ส.ว.มีอำนาจลงมติเลือกนายกฯ นั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรให้ยกเลิกมาตรา 272 โดยให้การเลือกนายกฯ ทำได้ในสภา เหมือนในอดีต

 

สำหรับมาตรา 279 นั้น กรรมาธิการฯ มีความเห็นในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ ควรยกเลิกเพราะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประกาศคำสั่งของคณะปฏิวัติได้ ขณะที่อีกความเห็นคือไม่ควรแก้ไข เพราะกังวลว่าจะมีผลกระทบทางกฎหมาย แต่หากคำสั่งหรือประกาศใดที่ควรยกเลิกนั้น ควรใช้กลไกของรัฐสภาออกเป็นพระราชบัญญัติ