‘โควิด’ เปิดช่อง‘สตรีทฟู้ด’ชิงยอดร้านดัง

10 ก.ย. 2563 | 04:20 น.

แนะ “สตรีทฟู้ด” พลิกวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาส ชิงสร้างแบรนด์-ยอดขายจากร้านดัง หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ขณะที่เทรนด์ “ไมโครแฟรนไชส์” มาแรง เหตุลงทุนน้อย รองรับลูกค้าวงกว้าง

นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร (Food Franchise Institute : FFI) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยยังคงสนุกและชื่นชอบการรับประทานอาหารนอกบ้านอยู่ แต่เทรนด์จะเปลี่ยนไป เช่น ทานอาหารในห้องแอร์และห้างสรรพสินค้าน้อยลง เลือกรับประทานเอาท์ดอร์มากขึ้น ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวมองว่าจะเป็นโอกาสของสตรีทฟู้ดอีกทางหนึ่งในการเร่งปรับตัวในภาวะวิกฤติได้

 

โดยทิศทางธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยเริ่มเห็นสัญญาณบวกมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขที่แน่ชัดในปีนี้ได้ จากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารขนาดเล็กและสตรีทฟู้ดมีมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท การเติบโต 3-5% มีผู้ประกอบการในประเทศร่วม 3 แสนรายไทย

สุภัค หมื่นนิกร

หลังโควิด-19 ธุรกิจฟู้ดที่จะอยู่ได้ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือต้องมีการสื่อสารแบรนด์ให้ลูกค้ารู้จักชัดเจน ในเรื่องของสุขภาพ มาตรการความปลอดภัยภายในร้านตั้งแต่วัตถุดิบ การจัดเก็บ การดูแลสุขภาพของพนักงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจ เนื่องจากมีกระแสการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่กำลังเข้ามา

 

“ร้านค้าในห้างที่อาจจะปรับตัวค่อนข้างยากหรือต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันลูกค้าก็อาจจะเบื่อที่จะเข้าไปรับประทานอาหารในห้าง ดังนั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสอันดีของสตรีทฟู้ด,ร้านอาหารในตลาดนัดต่างๆ ทั้งหลายที่จะถือโอกาสปรับตัวดึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าว โดยปัจจัยสำคัญของการอยู่รอด คือ สุขอนามัย, การสร้างแบรนด์แล้ว การมีเมนูซิกเนเจอร์ ที่จะกระตุ้นให้ลูกค้าให้ความสนใจในตัวแบรนด์และหันมารับประทานมากขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนโควิดมาอาจจะมีร้านอาหารเปิดได้ 100% แต่หลังโควิดอาจจะเหลือ 40% (ทั้งสตรีทฟู้ดและร้านอาหารตามตลาดนัด) ขณะที่กลุ่มลูกค้า 100 คน หลังโควิดการทานข้าวนอกบ้านอาจจะเหลือ 50% ซึ่งจากอัตราดังกล่าวลดลงทั้งจำนวนร้านค้าและคนรับประทานก็หายไปเช่นกัน หากวัดตามจำนวนที่เหลือแล้วอย่างไรยอดขายของทางร้านก็ไม่ได้ตก ซึ่งหากสามารถทำตลาดได้ดียอดขายอาจจะทะยานขึ้นได้เสียด้วยซ้ำ
‘โควิด’ เปิดช่อง‘สตรีทฟู้ด’ชิงยอดร้านดัง

การเน้นความคุ้มค่า คุ้มราคาเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้วัตถุดิบที่ดี อกไก่ ข้าวหอมมะลิ ฯลฯ รวมถึงการจัดแพ็กเกจ ชุดคอมโบ้เซ็ต ฯลฯ พร้อมขยายกลุ่มลูกค้า เช่นลูกค้าทั่วไป ลูกค้าพรีเมียม เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และการทำดีลิเวอรีผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ จำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดมากขึ้น และเลือกที่เหมาะสมกับร้าน เพราะคู่แข่งในดีลิเวอรีไม่ใช่แค่ร้านค้าในย่านเดียวกัน แต่เป็นร้านค้าทั่วกรุงเทพฯหรือในจังหวัดนั้นๆ

 

ขณะที่เทรนด์ร้านอาหารในปีหน้า มองว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะสดใสเป็นอย่างมาก ซึ่งใครที่สามารถฝ่าวิกฤติในปีนี้ไปได้ ปีหน้าคือโอกาสสำคัญในเรื่องของการขยายการเติบโต ซึ่งเทรนด์ที่มาแรงคือเรื่อง ไมโครแฟรนไชส์ (Micro Franchise) หรือแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ลงทุนน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโปรดักต์แฟรนไชส์,รูปแบบ แฟรนไชส์ คลาวด์คิทเช่น,แฟรนไชส์ขายของหน้าบ้าน เพื่อรองรับช่องทางออนไลน์ เนื่องจากผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันไม่นิยมลงทุนเม็ดเงินสูง ขณะเดียวกันก็อยากเข้าถึงลูกค้าได้เป็นวงกว้าง

‘โควิด’ เปิดช่อง‘สตรีทฟู้ด’ชิงยอดร้านดัง

Clound Kitchen แบรนด์ใหญ่ทำอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ มีเรื่องของการโคพาร์ทเนอร์, โปรโมชัน ซึ่งมีผลให้ตลาดดีลิเวอรีเติบโตขึ้น ในส่วนของแบรนด์เล็กมองว่าจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบัน ซึ่งคนที่จะทำร้านอาหารยุคนี้จุดแข็งต้องเป็นจุดแข็งจริงๆ จะตามกระแส มีชื่อเสียงโดยบังเอิญเหมือนในอดีตถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห้างฯ เพิ่มสตรีทฟู้ดในฟู้ดคอร์ทหวังดึงลูกค้า

มาแล้ว!นวัตกรรมรถเข็นขายหมูปิ้ง-น้ำปั่นยุคNew Normal 

สจล. แนะมาตรการ หนุนสตรีทฟู้ดหลังปลดล็อคดาวน์