"ภาษีที่ดิน" พ่นพิษ! รายได้วูบ โปรเจ็กต์ใหม่กทม.เป็นหมัน 

09 ก.ย. 2563 | 06:46 น.

" ภาษีที่ดิน" พ่นพิษ ประชาชนสับสน ชำระภาษีเกิน กทม.โอนคืนอุตลุด เผยโปรเจ็กต์ใหม่หมดสิทธิ์เกิด ถนน-สะพาน-รถไฟฟ้ารางเบา-เวนคืน-คูคลองถูกตัดเหี้ยน ขอจ่ายเงินเดือน ข้าราชการ 3 หมื่นล้านต่อปี หลังรายได้ปีงบ 63 วูบหมื่นล้าน 

 

 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สร้างความสับสนอย่างมากให้กับประชาชนผู้ครอบครองที่ดิน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพ มหานครยืนยันว่า ได้จัดส่งจดหมายเพื่อเรียกเก็บภาษี ปีงบประมาณปี 2563 ครอบคลุมครบ ทั้ง 2-3 ล้านแปลงแล้ว แต่ปรากฏว่า ถูกตีกลับมายังสำนักงานเขต เจ้าของที่ดินอ้างไม่ได้รับเนื่องจากที่อยู่อาศัยกับสถานที่ที่จัดส่งจดหมายอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือ ไม่ตรงกัน 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า หากครบกำหนดการเสียภาษีแต่ยังไม่ชำระให้ถือว่า จดหมายดังกล่าว ถึงผู้รับทุกรายนั่นหมายถึงต้องเสียค่าปรับเพิ่ม ขณะเดียวกันกทม. ยืนยันว่า ล่าสุดมียอดจัดเก็บภาษีเกินเป้าที่ตั้งไว้ 1 เท่าตัว หรือ 1,000 ล้านบาทเศษ จากเป้า 500 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยนยน 63) ส่วนหนึ่งเจ้าของที่ดินชำระภาษีเกินจากความไม่เข้าใจ คือ ครั้งแรกอาจชำระที่สำนักงานเขตฯ ต่อมาได้บิลประเมินแจ้งเสียภาษี ได้เดินทางไปชำระภาษีที่ดิน ยังร้านสะดวกซื้อและธนาคารกรุงไทยซ้ำอีกครั้ง ส่งผลให้กทม.ต้องคัดแยกส่งเงินกลับคืนเจ้าของผู้ครอบครอง 

ขณะการจัดเก็บภาษี ที่ดินที่ขยายระยะเวลาออกไป จากเดือนสิงหาคมเป็นตุลาคมนั้น  มองว่า น่าจะเหลือส่วนที่ยังไม่ชำระไม่มากและเป็นรายย่อยๆ โดยรายได้ปีงบประมาณ 2563  จะสิ้นสุดลง 30 กันยายน ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน  คาดว่า รายได้จากภาษีที่ดินไม่น่าถึง 1,400 ล้านบาทหรือไม่ถึง 10% ของเป้าเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 14,000 ล้านบาท ช่วงที่รัฐบาลยังไม่ลดหย่อนภาษีลง 90%    ส่วนเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ชำระภาษีในเดือนตุลาคม  กทม.ต้องทำใจว่า รายได้จะขยับไปเป็นของงบประมาณปี 2564  สำหรับทางออกอยากประชาสัมพันธ์ ให้ทราบว่าหากเจ้าของที่ดินได้รับใบชำระภาษีแล้ว ควรเร่งชำระภาษีให้ทันภายในเดือนกันยายนนี้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ จะคืนกลับในรูปของการพัฒนาสาธารณูปโภค บริการสาธารณะให้เกิดความสะดวกสบายขึ้น   

นอกจากความสับสนของประชาชนผู้เสียภาษีแล้ว พบว่า รายได้อาจหายไป 10,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 ส่งผลให้กทม.ต้องรัดเข็มขัด 1. ตัดการจัดซื้อวัสดุคุรุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น 2. ยกเลิกการสัมมนา 3. ขยับโครงการใหม่ออกไปเช่นถนน-สะพาน  รถไฟฟ้า ระบบรางสายใหม่ๆ การขุดบึง การเวนคืน ขณะโครงการที่มีสัญญาผูกพันคงไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่อาจต้องแบ่งวงเงิน กระจายในหลายโครงการที่ดำเนินการอยู่   
     

"ภาษีที่ดิน" พ่นพิษ! รายได้วูบ โปรเจ็กต์ใหม่กทม.เป็นหมัน 

 

แหล่งข่าวจากกทม. ระบุว่า กทม.ต้องนำรายได้จ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการก่อน ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปีและต้องยกเลิกหรือเลื่อนโครงการใหม่ที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างเวนคืนถนนใหม่ ตามผังเมืองรวมกทม.  ที่กำหนดเพิ่มตามผังเมืองรวมใหม่ กว่า 200 สาย โครงการเชื่อมถนนพุทธมณฑล สาย 2-พุทธมณฑล สาย 3 วงเงิน 1,515 ล้านบาท โครงการปรับปรุงถนนไมตรีจิต 38-คลอง 9 วงเงิน 190 ล้านบาท ระยะเวลาสร้าง 1 ปี  การขุดคลอง บึงใหม่ แก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น   

“กทม. ต้องประหยัดงบประมาณ เพราะไม่สามารถกู้ได้เหมือนรัฐบาล  ส่วนการของบประมาณอุดหนุนมองว่า เป็นไปได้ยาก โดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนรายได้ที่ฝากหน่วยงานราชการอื่นจัดเก็บให้ ไม่เป็นไปตามเป้าเช่นกันเนื่องจากสถานการณ์โควิด”

เช่นเดียวกับรายได้จากการจัดเก็บขยะใหม่ ที่จัดเก็บเพิ่ม รายละ 40 บาท และเพิ่มค่ากำจัดอีก 40 บาท เดิมคาดการณ์ว่าจะมีรายได้เข้ามาประมาณ ปีละ 1,000-2,000 บาท แต่เมื่อเกิดโควิดต้องชะลอออกไปจัดเก็บปีงบประมาณ 2565 หรือ 1 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้ปีนี้ กทม.ต้องทำใจ    

 

 

อย่างไรก็ตาม ปีงบประมาณ 2564 ประเมินว่า รัฐบาลไม่น่าจะขยายลดหย่อน 90% ต่อ เนื่องจากรายได้ท้องถิ่นจะหายไป แต่มั่นใจว่า รายได้น่าจะขยับเพิ่มขึ้น จากประชาชนให้ความร่วมมือ ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ประกาศใช้ตลอดจนการแบ่งแยกที่ดิน และมีสิ่งปลูกสร้าง เกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามประชาชนที่ซื้อที่ดิน โอนกรรมสิทธิ์ใหม่ต้องติดต่อกทม.เพื่อขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้าง ว่าเป็นประเภทใดเพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นเหมือนปีนี้ และสะดวกต่อการตรวจสอบในรอบปีงบประมาณต่อๆ ไป 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาษีที่ดิน  อาคารนับล้านสำรวจไม่ทัน กทม.-เมืองใหญ่ป่วน 
โขก "ภาษีที่ดิน" ปี 64  "ราคาประเมินใหม่" พุ่งเท่าตัว
“ภาษีที่ดิน”ป่วน! ฮือฮา จุฬาฯ –ห้างยักษ์ ยื่นพรึบขอผ่อน