จี้องค์กรทรานส์ฟอร์ม พลิกธุรกิจรับ Next Normal

07 ก.ย. 2563 | 03:05 น.

โควิด-19 จี้องค์กรเร่งทรานส์ฟอร์ม พลิกธุรกิจรับ Next Normal

     หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูหรือเรียกได้ว่าเป็นยุคหลังโควิด ซึ่งเป็นตัวเร่งให้หลายองค์กรเริ่มตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน รวมถึงเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค Next Normal ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องเร่งทรานส์ฟอร์มตัวเองก่อนถูกดิสรัปต์

 

โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

     ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเวียดนาม บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เรื่องของ Disruption นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่สถานการณ์ของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภครวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันไม่มีองค์กรไหนที่ไม่พูดถึงเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นการบังคับให้ทุกคนอยู่กับดิจิทัลอย่างแท้จริง ส่งผลให้ความคาดหวังของผู้บริโภคเปลี่ยน แปลง ซึ่งสิ่งที่น่ากลัว คือ การหยุดพัฒนา ขณะที่ Disruptor หรือธุรกิจใหม่ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนความคาดหวังของลูกค้า เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคด้วยการมองหาช่องว่างที่เป็นความตัองการของลูกค้า และสร้างเทคโนโลยีที่สามารถลดต้นทุนและตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละบุคคล ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงคือ Reimagination หรือ “การจินตนาการใหม่”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 5 สิ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ผู้บริหารยุคนี้ “ต้องรู้”

ฟูจิตสึ ปรับกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มองค์กรรับ “Next Normal”

 

พร้อมดิสรัปต์ตัวเอง

     เนื่องจากพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยน แปลงไป ปัจจัยที่ผู้บริหารต้องโฟกัส คือการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่ทำให้ทุกองค์กรต้องจินตนาการใหม่ ในการทำธุรกิจ ลูกค้าไม่ต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบเดิมเหมือนที่ผ่านมา องค์กรที่จะอยู่รอดได้ต้องคาดการณ์อนาคตของธุรกิจเพราะนวัตกรรมนั้นเกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการ innovate เป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กรโดยผู้บริหารมีหน้าที่สร้างโอกาส สร้างแพลตฟอร์ม และวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องคิดในระยะยาว

จี้องค์กรทรานส์ฟอร์ม พลิกธุรกิจรับ Next Normal

ฟูจิตสึรุกธุรกิจบริการ

      นายโทชิโร มิอุระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศ ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ผลประกอบการปีที่ผ่านมา ฟูจิตสึ ประเทศไทย มียอดขายทั้งสิ้น 3.8 พันล้านบาท และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สภาพเศรษฐกิจของไทยได้รับผล กระทบค่อนข้างมากจึงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูธุรกิจ ทั้งนี้ทิศทางและยุทธศาสตร์ของฟูจิตสึคือการทรานส์ฟอร์มสู่ Service Oriented Company หรือมุ่งเน้นไปที่เรื่อง ของการให้บริการและการสร้างความ พึงพอใจให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องโดยการปรับองค์กรสู่ธุรกิจบริการเนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์นั้นมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างตํ่า จึงต้องการที่จะทำกำไรให้เพิ่มมากขึ้นโดยเพิ่มสัดส่วนของการให้บริการเข้ามา

หนุนองค์กรเร่งทรานส์ฟอร์ม

      ด้านนายพรชัย พงศ์เอนกกุล หัวหน้ากลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวต่อว่า สำหรับการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ 1. Smart Factory การขับเคลื่อนกระบวนการของโรงงานผลิตเข้าสู่ดิจิทัลโพรเซส เพื่อสร้างความคล่องตัวให้การผลิต 2. Data Analytics การวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่รองรับธุรกิจจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจ ประมวลผล ปกป้อง และสร้างรายได้จากข้อมูล 3. RPA-Robotic Process Automation การใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยสร้างความถูกต้องแม่นยำ ลดต้นทุนการทำงาน เพิ่มอัตราผลผลิตได้ดี และ 4. Smart Workplace ที่เข้ามาตอบสนองความต้องการในยุคเว้นระยะห่างทางสังคม(Distancing) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระยะไกลผ่านดิจิทัลโซลูชัน การรีโมทเครือข่าย เพื่อทำงานร่วมกันของทีมงาน 

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,607 หน้า 16 วันที่ 6-9  กันยายน 2563