ห้าง-ศูนย์การค้า ล้อมวงพบ “นายกฯตู่” ร่วมฝ่าวิกฤติ

03 ก.ย. 2563 | 06:59 น.

“สมาคมศูนย์การค้าไทย-ผู้ค้าปลีกไทย” เข้าพบ “นายก” ร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนประเทศฝ่าวิกฤติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 กันยายน 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีตัวแทนจากสมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะทำงานจากภาครัฐเพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศของภาคธุรกิจ พร้อมแสดงพลังความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด -19 ในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคธุรกิจศูนย์การค้าโดยสมาคมศูนย์การค้าไทย รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี และภาครัฐ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจนี้ และได้ให้โอกาสในการนำเสนอวิสัยทัศน์สู่การเป็นหนึ่งในแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย

 

'ศูนย์การค้า' นับเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นสถานที่ที่รวมผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 120,000 ราย ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 2.4 ล้านคน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่า 750,000 ล้านบาทต่อปี ศูนย์การค้าจึงเปรียบเสมือน ‘บ้านหลังใหญ่’ ของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และนับเป็น ‘ต้นน้ำ’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นและรวมการค้าขายเอาไว้ จึงมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศในทุกระดับ

 

“ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์โควิดจนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจศูนย์การค้าได้มีความพยายามช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศอย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลากว่า 6 เดือน รวมรายได้ที่สูญเสียและเม็ดเงินช่วยเหลือเกือบ 2 แสนล้านบาท อาทิ การลดค่าเช่า 30-100% เพื่อให้ร้านค้ายังคงมีกระแสเงินสดหมุนเวียนและประคองธุรกิจต่อไปได้ ส่งเสริมการขายจัดแคมเปญลดราคา 50-90% รวมไปถึงเปิดพื้นที่การขายฟรีให้เอสเอ็มอีและผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีประคองธุรกิจในระยะสั้น แต่ไม่เพียงพอให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างต่อเนื่อง” นายนพพรกล่าว

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย 2 สมัย (ปี 2557-2561) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่เราได้ร่วมมือกันแสดงพลังของคนไทยในทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล บุคคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานต่างๆ ภาคเอกชน ไปจนถึงภาคประชาชน จนฝ่าวิกฤติครั้งใหญ่มาร่วมกันได้ ขณะนี้เพื่อร่วมกันเร่งฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทางสมาคมศูนย์การค้า จึงขอนำเสนอแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อภาครัฐพิจารณารวมเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ

 

สำหรับวิสัยทัศน์ของภาคธุรกิจศูนย์การค้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แผนระยะสั้น แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

 

1.แผนระยะสั้น: ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถกลับมาค้าขายได้ คงการจ้างงาน และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ด้วยมาตรการออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, ส่งเสริมโครงการช้อปและเที่ยวช่วยชาติ โดยอนุมัติมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” แจก 3,000 บาทต่อคน พร้อมขยายมายังผู้ค้ารายย่อยในศูนย์อาหาร (Food Center) ให้สามารถเข้าร่วมได้, พิจารณาอนุมัติมาตรการเยียวยาค่าใช้จ่ายผ่านศูนย์การค้าเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อไป ตามข้อเสนอมาตรการเยียวยาโควิดทั้งด้านภาษีและค่าใช้จ่ายๆ ตามจดหมายที่สมาคมฯ เคยนำเสนอเมื่อวันที่ 15 เม.ย. และ 29 มิ.ย. 2563 พร้อมขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านการลงทุน และต่ออายุการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ออกไปถึงปี 2566

 

2.แผนระยะกลาง: ส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่อง ด้วยการยกระดับธุรกิจศูนย์การค้าให้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาประเทศ อนุญาตให้ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษของประเทศ, ส่งเสริม Seamless Connectivity เชื่อมต่ออาคาร, ระบบคมนาคม, สะพานลอย, รถไฟฟ้า, ถนนหลวง ฯลฯ, พิจารณาปรับกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ และส่งเสริมมาตรการด้านภาษีเพื่อการลงทุน

 

3.แผนระยะยาว : ผลักดันให้ศูนย์การค้าไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในระดับโลก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการยกระดับคุณภาพและดีไซน์สินค้าของไทยให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการทยอยปรับลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้ รวมถึงจัดแคมเปญระดับประเทศเพื่อโปรโมท Attraction & Unique Product ภายในศูนย์การค้า แล­­ะการจัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมระดับประเทศ (Cultural Event) โดยภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันส่งเสริม Art / Music / Food ของไทยในศูนย์การค้า เช่น งาน Bangkok Art Biennale เพื่อทำให้ศูนย์การค้าไทยเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

 

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ทางสมาคมฯ ผลักดันให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อช่วยประคองธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการ คงการจ้างงาน ลดอัตราการว่างงาน และกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบ รวมถึงการแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ธุรกิจรอดไปด้วยกันทั้งหมด นอกจากนี้ สำหรับแผนระยะกลาง เราหวังให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการยกระดับให้ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้วยเราเล็งเห็นบทบาทของศูนย์การค้าที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างมาก รวมถึงในระยะยาวเราต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในแม่เหล็กหลักที่จะช่วยดึงดูดรายได้ให้กับประเทศ”

 

ทางสมาคมศูนย์การค้าไทย ยังเสนอเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐผลักดันและดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่นำเสนอดังกล่าวข้างต้น จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าดำเนินตามแผนการลงทุนตามที่ได้วางไว้ที่กว่า 171,000 ล้านบาทภายใน 3 ปีต่อจากนี้ (ประมาณ 57,000 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐให้โอกาสในการนำเสนอ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเยียวยาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิดในครั้งนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง  

 

ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกและบริการเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศ ที่มีเส้นเลือดใหญ่ คอยกระจายเลือดไปหล่อเลี้ยงระบบและส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร การจ้างงาน การกระจายสินค้า การให้บริการ รวมถึงการท่องเที่ยว สูบฉีดและสร้างเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศให้แข็งแรง ดังนั้นถ้าธุรกิจค้าปลีกและบริการที่แข็งแกร่งจะสามารถนำพาประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยทุกระดับตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

 

ดังนั้น การดำเนินงานของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ยึดหลักวิสัยทัศน์ มุ่งสู่การเป็น “สุดยอดการใช้ชีวิต” แห่งเอเชีย (Lifestyle Hub of Asia) ด้วยการพัฒนาบุคลากร ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยนับแสนล้าน ผ่าน 3 แกนหลัก คือ 1.ผลักดันภาคการค้า ค้าปลีก-ค้าส่ง สู่ระดับเวิลด์คลาส 2.ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมผลิต ยกระดับสินค้าสู่เวทีโลก และ 3.บูรณการภาคบริการอย่างครบวงจร (อาหาร สุขภาพ และสันทนาการ)

 

พร้อมกันนี้มีข้อเสนอในการพัฒนาภาคค้าปลีกต่อภาครัฐ อาทิ แนวทางการพัฒนาระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการบริโภคด้วยการพยุงการจ้างงาน และกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ นอกจากนี้ยังเสนอแนวทางพัฒนาเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส อาทิ มีมาตรการควบคุม E-Commerce ในด้านราคาและการเสียภาษี เสนอให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก และห้าม E-Commerce ขายราคาต่ำกว่าทุน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ข้อเสนอของสมาคมฯดังกล่าวใช้งบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ SME จะได้รับและการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้นยังผลต่อเศรษฐกิจประเทศชาติโดยรวมในภาวะวิกฤตขณะนี้  และเป็นแนวทางที่เกิดผลเร็วและตรงเป้าหมายชัดเจน หากข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการอนุมัติ เชื่อว่า จะส่งผลให้ SME อยู่รอดกว่า 1.3 ล้านราย เกิดการขยายการจ้างงานจาก 6.2 ล้านอัตรา เป็น 7.4 ล้านอัตรา และจะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าแสนล้าน รวมทั้งสร้างรายได้ให้ภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท

 

ห้าง-ศูนย์การค้า ล้อมวงพบ “นายกฯตู่” ร่วมฝ่าวิกฤติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ชง 35 มาตรการพร้อม “เปิดห้าง” พ.ค. นี้

ส.ค้าปลีก เปิดบ้านรับนายกตู่ ชง 4 มาตรการฟื้นศก.

สูญ2เเสนล. ห้าง-ร้านค้า‘ยับ’ ลูกจ้าง4.5ล้านคนจ่อตกงาน

ห้างค้าปลีกดับเครื่อง “เซลทั้งเมือง” 3 พันร้านเฉือนเนื้อ ทวงนายกฯฟื้น "ช็อปช่วยชาติ"