ผลวิจัยชี้ชัดพบ “พาราควอต” ตกค้างในซีรั่มมารดา-ขี้เทาทารก

31 ส.ค. 2563 | 11:27 น.

กระทรวงสาธารณสุข-ม.มหิดล จับมือคณะแพทย์จาก 3 โรงพยาบาล แจงผลงานวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารก

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน(31 ส.ค.63) ว่า  กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ได้จัดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงงานวิจัยของ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Neonatal Neurobehavioral impacts of Iodine deficiency& pesticide exposures: A baseline for intervention) ร่วมกับ รศ.ดร. จักร์กฤช หิรัญเพชรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นพ.วิโรจน์ ธนสารไพบูลย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์, พญ.นภาพร เกียรติดำรงค์ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ และพญ. นันทา จรูญรุ่งสิริกุล โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี ณ อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ศ.ดร.พรพิมล อธิบายขอบเขตงานวิจัยว่า ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฟเขียวร่างกฎหมายสารพิษตกค้าง  “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

อาหารสัตว์1.07ล้านล.เฮ สารตกค้างตามโคเด็กซ์ 2สมาคมติงอย่า2มาตรฐาน

ราชกิจจาฯ ประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”  1 มิ.ย.

 

ผลวิจัยชี้ชัดพบ “พาราควอต” ตกค้างในซีรั่มมารดา-ขี้เทาทารก

 

ขณะที่ นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทากล่าวว่า ตนเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ โดยรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชั่วโมงหลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้

 

ศ.ดร. พลพิมล สรุปผลการวิจัย พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20% และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย

 

นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ความเห็นว่า งานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผู้วิจัยย่อมยินดีให้ตรวจสอบได้ แต่หากเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต หรือใส่ความให้ผู้วิจัยเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยไม่เป็นธรรม เช่น กล่าวหาว่าข้อมูลเป็นเท็จ จะเรียกได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท จะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และหากนำถ้อยคำดังกล่าวไปเผยแพร่ เช่น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ถือว่ามีความผิดฐานการหมิ่นประมาททางการโฆษณา ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้อง

 

ศ.พรพิมล กองทิพย์ และคณะแพทย์ยืนยันว่าจะยืนหยัดทำงานวิชาการที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของสุขภาพประชาชนต่อไป เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน โดยจะลงสำรวจ และเก็บตัวอย่างผักผลไม้ รวมทั้งแหล่งน้ำเพื่อดูผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในชุมชนเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนไปพร้อม ๆ กันด้วย