สาธารณสุข ขอผู้ประกอบการ ชะลอนำเข้าแรงงานต่างด้าว

28 ส.ค. 2563 | 18:05 น.

กระทรวงสาธารณสุข ขอผู้ประกอบการชะลอนำเข้าแรงงานต่างด้าว หลังโควิด-19 กลับมาระบาดในเมียนมา

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ชะลอการนำแรงงานต่างด้าวจากพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาในประเทศ โดยขอให้รอสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้และมีความมั่นใจมากกว่านี้ก่อนจึงค่อยกลับไปจ้างแรงงานต่างด้าวได้ตามปกติ 

ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาได้พบการระบาดของไวรัสโควิดแล้ว และมีการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 21.00 -04.00 น. รวมทั้งให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“มท.”สั่ง 10 จังหวัดติดเมียนมา สกัดโควิดระบาดเข้มลักลอบเข้าไทย

นักวิชาการเตือนวิกฤติโควิดในเมียนมา รุนแรงกว่าที่คิด

"หมอธีระ" หวั่น โควิด-19หลุดเข้าไทย แนะ ศบค.ปิดด่านชายแดน

"เมียนมา" พบป่วยโควิดติดเชื้อในท้องถิ่น เพิ่ม 13 ราย

 

อย่างไรก็ดี การระบาดดังกล่าวในเมียนมาไม่เรียกว่า เป็นการระบาดรอบสอง เพราะเป็นเพียงการระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เท่านั้น

นพ.โสภณ ยอมรับว่า ไทยและเมียนมามีพรมแดนทางบกติดต่อกันหลายร้อยกิโลเมตร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมและเฝ้าระวังการลักลอบข้ามแดนเพราะแม้จะมีด่านควบคุมโรคอยู่แต่ก็ยังมีการลักลอบเข้ามาทางด่านธรรมชาติ ซึ่งทำให้ฝ่ายความมั่นคงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดและเพิ่มความถี่ในการตรวจตราให้มากขึ้น เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้มีการลักลอบข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทย

 

นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ตามด่านพรมแดนไทยที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน โดยป้องกันการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อข้ามพรมแดนขึ้นได้

 

สำหรับกรณีที่ระยะหลังเริ่มมีคนไข้จากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลของไทยมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าชาวต่างชาติเหล่านี้จะนำเชื้อโควิดมาแพร่ระบาดในประเทศหรือไม่นั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ในกรณีนี้ได้มีข้อกำหนดที่เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามารับการรักษาโรคในไทยว่า จะต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีโรคติดต่อหรือมีความเสี่ยงแต่จะรับรักษาผู้ป่วยในกรณี เช่น โรคมะเร็ง โรคไม่ต่อต่อเรื้อรัง (NCDs) และการรักษาผู้มีบุตรยาก เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดน้อย หรือสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว

 

“ผู้ป่วยเหล่านี้ ก่อนจะมาไทยต้องตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางใน 72 ชม. พอมาถึงแล้วจะมีรถรับตัวไปยัง รพ.ทันทีเพื่อตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกและจะมีการตรวจซ้ำอีก 2 ครั้งหลังจากนั้นหากพบว่า ติดเชื้อจริงก็เท่ากับว่าเป็นการพบตั้งแต่ระยะแรกๆซึ่งจะทำให้ป้องกันโรคได้ดีกว่าพบระยะท้าย คนไข้ที่มารับบริการทางการแพทย์ทั้งหมดนี้ยังไม่พบว่า มีการเข้ามาแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นในประเทศ”

 

ส่วนสถานการณ์ที่หลายประเทศพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นในระยะนี้ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ รวมทั้งในเอเชีย ตลอดจนการระบาดระลอกสองในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้นั้น เน้นย้ำว่า เป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างเข้มงวด ทั้งในเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่าง เลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด และการใช้บริการแอปพลิเคชั่นไทยชนะ ซึ่งเป็นระบบติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้จนถึงทุกวันนี้ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลานานกว่า 3 เดือนแล้ว นพ.โสภณ ระบุย้ำ