ครม.อนุมัติงบ 572 ล้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

25 ส.ค. 2563 | 10:09 น.

ครม.อนุมัติงบ 572.ล้านบาท ให้มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ตามแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติกรอบงบประมาณวงเงิน 572.58 ล้านบาท ให้มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อนำไปใช้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 3 ปี 2564-2565

 

โดยมี 3 แผนงานที่สำคัญประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่ต้นแบบเดิมไปสู่ความยั่งยืน วงเงิน 62ล้านบาท  2.ส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง วงเงิน 224.58 ล้านบาท 3.สนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ วงเงิน 286 ล้านบาท

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง        

มูลนิธิปิดทองหลังพระ ช่วยคนตกงานจากโควิด

เปิดห้องครม.สัญจร เชิญ "นักเรียน-นักศึกษา" นั่งประชุมและยื่นข้อเสนอ

ครม.เคาะงบ 2,771 ล้านบาท ปรับปรุงถนน-ดันราคายาง

นายกฯ แจงปมสั่ง"เฟซบุ๊ก"ปิดเพจดำเนินการตามกม.ไทย ลั่นพร้อมสู้คดีหากถูกฟ้อง

 

ทั้งนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 1-2 ที่ผ่านมาว่า สามารถขับเคลื่อนพันธกิจให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยประชาชนพึ่งตนเองได้ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการพัฒนามีความก้าวหน้าด้วยดี ระดับของการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ บรรลุผลตามเป้าหมายในทุกระดับที่น่าพอใจ

 

รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง เพื่อให้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีผลลัพธ์ที่ออกมาใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และ ด้านสิ่งแวดล้อม

       

สำหรับด้านเศรษฐกิจ มีน้ำทำการเกษตร 275,714 ไร่ ผู้ได้ประโยชน์ 79,218 ครัวเรือนในพื้นที่ 9 จังหวัด 98 หมู่บ้าน ผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 350 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้จากการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 109.5 ล้านบาทเป็น 2,679 ล้านบาท

 

ด้านสังคม มีกลุ่มกิจกรรมที่บริหารจัดการโดยชุมชน มีกฎระเบียบโปร่งใสเป็นธรรมกับสมาชิก 71 กลุ่ม  มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำชุมชน ทฤษฎีใหม่ พลังงานทดแทน สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ 119 คน ซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1,400 โครงการ พื้นที่เกษตร 181,167 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 48,930 ครัวเรือน และด้านสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่ไร่หมุนเวียนลดลงและได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นในจ.น่าน 106,580 ไร่ จ.อุทัยธานี 6,692 ไร่ ฝายอนุรักษ์ 6,259 แห่ง