3 พรรคร่วมรัฐบาล ‘ภท.-ปชป.-ชทพ.’ ชิงธงแก้รัฐธรรมนูญ

22 ส.ค. 2563 | 02:30 น.

รายงาน... 3 พรรคร่วมรัฐบาล ‘ภท.-ปชป.-ชทพ.’ ชิงธงแก้รัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป รัฐบาล) มีมติเห็นตรงกันต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า จะต้องเริ่มจากการแก้ไขมาตรา 256 ไม่แก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้อย่างน้อย 3 พรรค คือ ภูมิใจไทย (ภท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ต่างมีข้อเสนอและจุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 

 

แก้รธน.เสร็จยุบสภา

 

พรรคภูมิใจไทย เสนอ 

 

1. สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างฯ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับรองตามกระบวนการแก้ไข

 

2. การแก้ไขต้องไม่กระทบ หมวด 1 และ หมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

3. ให้ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน มีความเป็นอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้รธน.ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยมีความมุ่งหมายต่อการแก้ไข รธน. ดังนี้ 

 

         3.1 รธน.ต้องสร้างความเท่าเทียม ความเสมอภาค ในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคเอกชน โดยรัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนให้มีการอำนวยความสะดวก และเปิดกว้างในการประกอบอาชีพ ลดอำนาจในการควบคุมที่เป็นลักษณะการสกัดกั้น และสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนมีความไม่เท่าเทียมกัน รธน.ใหม่ต้องเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้ 

 

         3.2 รธน.ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางสังคม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนามากที่สุด 

 

         3.3 รธน.ต้องสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจการ บริหาร และงบประมาณไปสู่ ท้องถิ่นให้มากขึ้น 

 

4. เมื่อมีรธน.ฉบับประชาชนแล้ว พรรคเห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภา เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และข้อเสนอของภาคประชาชน

 

5. ไม่สนับสนุนการคุกคาม ผู้เห็นต่างทุกกรณี เพราะการรับฟังความเห็นต่างเป็นลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

 

 

3 พรรคร่วมรัฐบาล ‘ภท.-ปชป.-ชทพ.’ ชิงธงแก้รัฐธรรมนูญ

 

 

และ 6. สนับสนุนข้อเสนอ แก้ไขรธน.เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเร่งด่วนของรัฐบาลในข้อ 12 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาว่า สนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรธน. 

 

ส่วนการแก้ไขอำนาจและที่มาของส.ว.นั้น ท่าที่ของพรรคภูมิใจไทย คือ ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ส.ส.ร.ว่าจะออกไปแนวทางใด 

 

 

 

รื้อส.ว.โหวตนายกฯ

 

ด้านท่าทีของ “ประชาธิปัตย์” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ใน ฐานะหัวหน้าพรรค ได้แสดงจุด ยืน นอกจากการแก้ไขมาตรา 256 แล้ว ยังสนับสนุน

 

1. ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรธน.ฉบับประชาชน  

 

2. แก้เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่รธน.ฉบับปี 2560 มีข้อด้อยกว่าฉบับปี 2550  

 

3. กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น และให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองมากขึ้น  

 

4. ระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ต้องมีการแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือกตัวบุคคล และพรรคการเมือง 

 

และ 5.บทเฉพาะกาล มาตรา 269 ถึง 272 เกี่ยวกับการได้มาของ ส.ว.และสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกฯ 

 

 

 

ให้คงสภา“ส.ส.-ส.ว.” 

 

ส่วนท่าที่ของ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นั้น วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค สนับสนุนแนวทาง ส.ส.ร. เพื่อช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ แต่ส.ส.ร.ต้องมีเงื่อนไขว่า ในหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 นั้น จะต้องไม่มีการปรับปรุง ไม่ไปแตะต้อง เพราะเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยเคารพนับถือ

 

ส่วนที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) ส.ว.ชุดปัจจุบันก็เกิดข้อครหา ขึ้น แต่เมื่อมี ส.ว.ที่มีการเลือกตั้งขึ้นมาในสมัยนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็น “สภาผัวเมีย” สภาพ่อลูกบ้าง ก็เกิดข้อครหาเช่นกัน ฉะนั้นปัญหาเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.ที่จะตัดสินว่าที่มาของ ส.ว.จะเป็นอย่างไร 

 

“พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าถึงอย่างไรก็ต้องมี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพราะในหลายๆ ประเทศจะต้องมี 2 สภาเอาไว้คานกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน”

 

ส่วนที่บางพรรคเห็นด้วยที่จะให้มีการ “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งใหม่หลังแก้รธน.เสร็จ นายวราวุธ กล่าวว่า คงต้องมาดูกันว่าเมื่อถึงวันที่รธน.ฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว แล้วสภาชุดนี้มีเวลาเหลืออีกเท่าไร รวมไปถึงความพร้อมในการเตรียมการ ตามรธน.นั้น มีเวลาเพียงพอ หรือไม่ ดังนั้นยังตอบในขณะนี้ไม่ได้ จึงต้องดูสถานการณ์ใน วันที่รธน.ฉบับนี้ร่างเสร็จว่าจะดำเนินการกันอย่างไร 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,603 หน้า 10 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม 2563