“ปตท.” รับนโยบาย “สุพัฒนพงษ์” เร่งสร้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ

18 ส.ค. 2563 | 09:35 น.

ปตท.ตอบรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลุยสร้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง พร้อมเดินหน้า 3 ธุรกิจหลักให้องค์กรแข็งแกร่ง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  และกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ต้องการให้ ปตท. เข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อน หรือช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ  ดังนั้น  การทำงานของ ปตท. ในช่วงครึ่งปีหลังก็จะกลับมาดำเนินงานอย่างเต็มที่ 100% เพราะฉะนั้นโครงการต่างๆก็จะกลับมาเดินหน้า 100% ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการขยายการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ล่าสุดก็ได้มีการหารือกันภายในกลุ่ม  เพื่อดูว่าจะมาตรการอะไรออกมาที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ดีขึ้น  นอกจากบางโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยหาตลาดให้กับสินค้าชุมชนของวิสาหกิจ  ทั้งผ่านสถานีให้บริการน้ำมัน  หรือการสร้างตลาดผ่านสื่อออนไลน์เช่น เว็บไซด์ชุมชนยิ้มได้ดอทคอม (www.ชุมชนยิ้มได้.com) ที่นำสินค้าจากชุมชนเข้ามาจำหน่าย  อีกทั้ง ปตท. ก็มีส่วนในการเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าให้ดีด้วย

ส่วนการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นนั้น  จะมี 2 รูปแบบทั้งการจ้างงานให้กับผู้ที่ตกงาน  หรือทำธุรกิจเกี่ยวกับ ปตท. โดยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของ ปตท. เมื่อกลับมาเดินหน้าเต็มที่ก็จะเกิดการจ้างงานหลายอัตราในส่วนของงานช่าง  ขณะที่งานด้านอื่นกำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมอยู่  เพื่อดูว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ในมิติใดบ้าง

“ปตท.” รับนโยบาย “สุพัฒนพงษ์” เร่งสร้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ด้วยความที่ ปตท. เป็นองค์กรขนาดใหญ่  เมื่อมีการขับเคลื่อนก็จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้”

นายอรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปตท.จะเร่งลงทุนตามแผนภายใต้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรก(มกราคม-มิถุนายน2563) ลงทุนแล้ว 50% หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยปตท.จะลงทุนเต็มที่ ไม่ชะลอ เพื่อเป็นอีกเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพรระบาดของโควิด-19
              นอกจากนี้ ปตท.จะเดินหน้า 3 ธุรกิจหลักให้องค์กรแข็งแกร่ง ประกอบด้วย ธุรกิจขั้นต้นจะเน้นการขุดเจาะ สำรวจก๊าซธรรมชาติ มุ่งประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว  หรือ “แอลเอ็นจี” (LNG) ตลอดซัพพลายเชนเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซของโลก  รวมถึงธุรกิจคือขั้นปลาย ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในช่วงขาลงแต่ยังเป็นธุรกิจหลัก  จะต้องลดต้นทุน ลดการลงทุนซ้ำซ้อน

และกลุ่มธุรกิจสุดท้าย คือ หน่วยธุรกิจใหม่ที่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือธุรกิจใหม่จะมุ่งสินค้าไลฟ์สไตล์ อาทิ ยา อาหารเสริม และโลจิสติกส์ อีกส่วนคือ พลังงานทดแทนที่จะลงทุนมากขึ้น โดยปลายปีจะมีการทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีอีกครั้ง

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกช่วงปลายปีคาดว่าจะอยู่ระดับ 40-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงโควิด และต้องจับตาสถานการณ์การผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (โอเปกพลัส) ขณะเดียวกันพบว่ายอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลเริ่มกลับมาปกติ ยกเวันน้ำมันอากาศยาน