นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ เร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

16 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ เร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3601 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-19 ส.ค.2563

 

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ

เร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
 

     มีความชัดเจนแล้ว สำหรับคำถามว่าจะมีใครมานั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรับคณะรัฐมนตรี 2/2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหวยมาลงที่นายกรัฐมนตรี นั่งกำกับเอง โดยมีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (ศบค.เศรษฐกิจ) ออกมาเป็น 2 ชุด
 

     ชุดแรกเป็นคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอและวางกรอบแนวทางการดำเนินการเศรษฐกิจจากหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ที่รับมอบหมายเป็นกรรมการ มีรัฐมนตรี 11 กระทรวง ประกอบด้วย รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.ท่องเที่ยวฯ รมว.เกษตรฯ รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัลฯ รมว.พาณิชย์ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.อุตสาหกรรม และรมว.สาธารณสุข
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่องแฟ้มครม. แบ่งงาน "รองนายกฯ-รมต.สำนักนายกฯ" ใครคุมกระทรวงไหน เช็กได้ที่นี่
นายกฯเซ็นแบ่งงาน“29 รมต.”หลายคนได้ดูแลพื้นที่ฐานเสียง
วันนี้ ครม.เตรียมเคาะแบ่งงาน รมต. “บิ๊กตู่” นั่งคุมเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จ
เปิดใจ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เชื่อมือ “บิ๊กตู่” นำทีมเศรษฐกิจ

     อีกชุดเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ มี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มีคณะกรรมการเช่น ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.(สศช.) รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น
 

     ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและเร่งรัดให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับนโยบาย แนวทาง และมาตรการรัฐบาลไปปฏิบัติ รวมทั้งกลั่นกรองและเสนอแนะถึงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อคณะกรรมการชุดแรก และประสานงานความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรต่างประเทศ หน่วยงานหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ส่งเอกสาร ข้อมูล ให้ความเห็นหรือการอื่นใดที่จำเป็น และดำเนินงานตามที่คณะกรรมการชุดใหญ่มอบหมาย เป็นต้น
 

     การตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าว ในมุมมองของภาคเอกชน เห็นว่า นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่นต่อการบริหารเศรษฐกิจ และให้เกิดความชัดเจนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน หรือมีเจ้าภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรง เพราะในการบริหารเศรษฐกิจช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เหมือนจะไร้ซึ่งทีม เพราะมากันคนละทิศคนละทาง ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
 

     โจทย์ใหญ่สำคัญคือการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว เพราะวิกฤติครั้งนี้ถือว่าสาหัสสากรรจ์ กว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง หลายสำนักฟันธงไปในทิศทางเดียวกันจีดีพีของประเทศปีนี้ติดลบใกล้ตัวเลข 2 หลัก จะได้เห็นการปิดโรงงาน เอสเอ็มอีปิดกิจการ คนว่างงานจำนวนมาก รายได้ที่ลดลง หนี้เสียที่เกิดเพิ่มขึ้น หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้
 

     ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรี ลงมากำกับการบริหารเศรษฐกิจเอง ภาวะเศรษฐกิจที่จะดิ่งเหวลึกลงไปกว่าที่คาดการณ์กันไว้ น่าจะมีโอกาสได้โงหัวขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย