การเมืองไม่นิ่ง ซ้ำเติมเศรษฐกิจฟื้น ฉุดGDPวูบหนัก

17 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

จับตาการเมืองภายใน ฉุดความเชื่อมั่น ดับฝันปลุกกำลังซื้อ รอทีมเศรษฐกิจใหม่สร้างสมดุล หนุนเงินไหลออก ลงทุนนอก ฝากความหวังภาครัฐ เข็นจีดีพี หดตัวน้อยลงช่วงที่เหลือของปี

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 แม้จะติดลบ 1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการระบาดของโควิด-19 แต่หลายสำนักมองตรงกันว่า ผลกระทบจะหนักสุดในไตรมาส 2 และน่าจะเป็นจุดตํ่าสุดของเศรษฐกิจไทย โดยส่วนใหญ่มองกันว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะติดลบมากกว่า 10% ลึกสุดอาจถึง 15% ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า หลังผ่านจุดตํ่าสุดในไตรมาส 2 ไปแล้ว แนวโน้มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย(จีดีพี)จะหดตัวน้อยลงไตรมาสต่อไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส3 และ 4 อาจจะกลับมาเป็นบวกได้  โดยบริษัทอยู่ระหว่างทวบทวนตัวเลขภายในเดือนสิงหาคม เพื่อปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ ลงจากเดิมที่คาดว่า จะติดลบ 6% เพราะมีปัจจัยการเมืองภายในประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ที่ต้องติดตาม โดยยังประเมินผลเชิงตัวเลขไม่ได้

“เราเตรียมทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพี โดยจะรอทีมเศรษฐกิจใหม่จะมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง รวมทั้งความเป็นไปได้ในมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามที่เป็นข่าวเพื่อประเมินประสิทธิผลของมาตรการต่างๆด้วย”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดตํ่าสุดแล้ว โดยไตรมาส 2 คาดว่าจะติดลบ 14% เทียบกับไตรมาตรก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล ติดลบ 12.2% และทั้งปีหดตัว 8-9%

“ถ้าไตรมาส 2 จีดีพีติดลบ 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เรามองแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์เทียบปี 2541 ที่ติดลบ 12.2% ซึ่งรอบนี้แซงหน้าต้มยำกุ้ง สาเหตุที่มองไตรมาส2 หดตัวมากสุด เพราะผลจากการปิดเมือง และตัวเลขภาคส่งออกและการบริโภคในประเทศแย่ต่อไปเมื่อมีการเปิดเมือง น่าจะเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จึงน่าจะส่งผลต่อดีต่อการบริโภค การค้า การลงทุน การส่งออกติดลบน้อยลงในครึ่งปีหลัง ส่วนไตรมาส 3 หากมีความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ไม่รุนแรง เพียงแต่ลากยาว จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าไปอีก ทางออกนั้น รัฐบาลต้องเร่งสร้างสมดุลให้เงินไหลออก หาช่องทางให้เงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนควรมองปัจจัยในระยะยาวมากกว่ามองปัจจัยการเมืองในระยะสั้น ซึ่งน่าจะสร้างความเชื่อมั่นกลับมา”

การเมืองไม่นิ่ง  ซ้ำเติมเศรษฐกิจฟื้น  ฉุดGDPวูบหนัก

สำหรับความหวังช่วงที่เหลือคือ การใช้จ่ายจากภาครัฐและการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่าแทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการเมืองนั้น หากมีการประท้วง เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองคนจะขาดความเชื่อมั่นทำให้เกิดการลงทุนน้อย โดยการนำเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบน้อยลง ทั้งนี้หากตัวเลขนำเข้าน้อย หรือหดตัวแรงกว่าการส่งออกที่หดตัว จะทำให้เกิดการเกินดุลการค้าที่อาจจะมากขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้มีความต้องการเงินบาทมากกว่าดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทอาจจะแข็งค่าได้

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) กล่าวว่า แนวโน้มจีดีพีไตรมาส 2 ประเมินว่า จะติดลบ 13% ทำให้ทั้งปีคาดว่า จะหดตัว 5% ไตรมาส 2 น่าจะเป็นระดับตํ่าสุด แต่ยังไม่แน่ใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ปัจจัยกิจกรรมในประเทศทั้งบริโภค ลงทุนยังอ่อนแอ การส่งออกและภาคท่องเที่ยวยังพึ่งพาไม่ได้ 

ส่วนประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในจะกระทบต่อความคาดหวังที่จะพึ่งปัจจัยในประเทศหรือไม่ เร็วๆ นี้จะทบทวนตัวเลขประมาณ การจีดีพีทั้งปีด้วย ถ้าไตรมาส 2 ติดลบมากกว่า 13% การส่งออกยังคาดหวังไม่ได้เช่นกัน เพราะสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าและภาคการผลิตยังไม่สามารถขนส่งได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้วัตถุเพื่อผลิตและส่งออกก็มีการนำเข้ามาค่อนข้างน้อย

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ธนาคารเตรียมทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพีในสัปดาห์หน้า เพราะช่วงคาดการณ์เดือนพฤษภาคม ยังมองไม่ครบเรื่องผล
กระทบต่อภาคท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมา 1-2 ล้านคน แต่ปัจจุบันเป็นไปได้ยากดังนั้นตัวเลขประมาณการไตรมาส 4 จะตํ่ากว่าที่คาดไว้ จากเดิมอยู่ที่ 4.6%

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563