เอปสันกางแผน รับไอทีฟื้นหลังโควิด

13 สิงหาคม 2563

เอปสัน เร่งเครื่องปั้นยอดหลังตลาดไอทีฟื้นตัวจากโควิด-19 ตั้งเป้ารักษาอัตราการเติบโตเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต พร้อมเดินหน้ารุกสร้างธุรกิจเชิง B2B เพื่อเพิ่มสมดุลการขยายตัวทางธุรกิจระยะยาว

ภายหลังเอปสัน สิงคโปร์ สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยีการพิมพ์และโปรเจ็กเตอร์ ประกาศแต่งตั้ง นายยรรยง มุนีมงคลทร ขึ้นเป็นผู้อำนวยการบริหารชาวไทยคนแรกของสำนักงานสาขาในภูมิภาคนี้ และคนแรกในรอบ 30 ปี ของบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เอปสันได้เร่งเสริมความแกร่งในการทำธุรกิจเชิง B2B อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสมดุลทางธุรกิจ และความพร้อมในการรับมือกับตลาดที่ผันผวนเมื่อได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2563 นี้ว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อวงจรธุรกิจและการลงทุนเกือบทั้งหมดของประเทศ ทั้งยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายและการใช้ชีวิตของผู้คน ตลาดไอทีในช่วง 4 เดือนแรกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา กลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกและผู้คนหันมาซื้อสินค้าไอทีเพื่อรองรับการทำงานและการเรียนผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้าน อีกทั้งหน่วยงานราชการก็เริ่มกลับมาจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานมากขึ้น ในส่วนของเอปสันยังคงตั้งเป้ารักษาระดับการเติบโตเท่ากับปีที่แล้ว โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์เพื่อธุรกิจองค์กรและธุรกิจถ่ายเอกสาร และสินค้าอิงค์เจ็ตพรินเตอร์เพื่องานพิมพ์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ธุรกิจป้ายโฆษณา โฟโต้แล็บ และธุรกิจสินค้าแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต”

 

 

เอปสันกางแผน รับไอทีฟื้นหลังโควิด

ยรรยง มุนีมงคลทร

 

 

 

 

“ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เอปสันเร่งเพิ่มความพร้อมในการทำธุรกิจเชิง B2B มากขึ้น ด้วยการเพิ่มสัดส่วนในด้านการขายและการตลาดไปที่กลุ่มธุรกิจ B2B เมื่อเทียบกับ B2C เป็น 30:70 จากเดิมที่เป็น 25:75 โดยบริษัทจะเน้นการขายในรูปแบบที่เป็นโซลูชันที่สามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้ตรงจุด มากกว่าที่จะแยกขายสินค้าเป็นเครื่องๆ รวมถึงสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในรูปแบบ Printer as a Service ออกมานำเสนอเพิ่มมากขึ้น เช่น โปรเจ็กต์นำร่องที่เปิดตัวไปแล้ว อย่างบริการผู้ช่วย Epson EasyCare 360 สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ใช้ Epson WorkForce ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานองค์กรสามารถบริหารค่าใช้จ่ายโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยปราศจากความกังวลเรื่องการดูแลบำรุงรักษา ทั้งด้านความพร้อมของอุปกรณ์ รวมถึงวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ อาทิ หมึกพิมพ์ หรือบริการ Epson EasyCare Mono สำหรับกลุ่มลูกค้า Epson EcoTank M-series ที่สามารถเช่าเครื่องพร้อมหมึกแบบเหมาจ่ายรายเดือน”

 

 

 

นายยรรยง กล่าวต่อว่า “บริษัทได้เตรียมความพร้อมใน 3 มิติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แนวทางการทำธุรกิจในเชิง B2B ประสบความสำเร็จในระยะยาว โดยมิติแรกคือการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร ตั้งแต่ด้านระบบการเงินการบัญชี ระบบแบ็กออฟฟิศเพื่อสนับสนุนการขาย การจัดจ้างบุคลากรใหม่ การเทรนนิ่งพนักงาน เพื่อรองรับการทำธุรกิจกับลูกค้า B2B ประการต่อมาคือการพัฒนาและสร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้สามารถเจาะตลาด B2B ได้กว้างและลึกยิ่งขึ้น ทั้งในภาคราชการและเอกชนผ่านการฝึกอบรมรวมถึงรับตัวแทนจำหน่ายสมัครรายใหม่ และมิติความพร้อมสุดท้ายคือการนำเสนอคุณค่า (Value Proposition) 4 ประการ ให้แก่ลูกค้าองค์กร หรือ LEAD ซึ่งเน้นการแก้ไขเพนพอยต์และตอบโจทย์ความต้องการด้านการพิมพ์งานภายในองค์กร ได้แก่ Low total cost of ownership หรือต้นทุนการเป็นเจ้าของที่ถูกลง, Eco-friendly environment หรือความเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมในองค์กร, Advanced performance หรือประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้น และ Digital transformation หรือศักยภาพขององค์กรในการเปลี่ยนถ่ายสู่เทคโนโลยีดิจิทัล” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,600 หน้า 16 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม 2563