กระทรวงอุตฯ ผนึก UNIDO และภาคี สร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม

09 ส.ค. 2563 | 08:20 น.

กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ พร้อมด้วยเครือข่าย 7 องค์กร สร้างต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดในภาคอุตสาหกรรม

นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตฯได้ดำเนินการร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ดำเนินโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme For SMEs in Thailand  ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ให้แก่ ผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) และ “สตาร์ทอัพ” (Start-ups) ของไทย ในการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจ การสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจด้วยกัน มีโอกาสเชื่อมโยงไปยังสถาบันการเงิน และการต่อยอดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดเป็น Cleantech Innovation Ecosystem สร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้น

              “กระทรวงอุตฯมีภารกิจหน้าที่หลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการดำเนินการ สามารถอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชน ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดโลก ตลอดจนเกิดองค์ความรู้ในการดำเนินการต่าง ๆ”

              นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดี กสอ. และในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและดูแลโครงการ Cleantech Promotion Programme for SMEs in Thailand กล่าวว่า กสอ. ดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2562 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการพัฒนาด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดทั้ง 6 สาขา ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) การใช้ของเสียเป็นพลังงาน (Waste to Benefits) พลังงานทดแทน (Renewable Energy)  อาคารสีเขียว (Green Building) และการขนส่ง (Transportation)

กระทรวงอุตฯ ผนึก UNIDO และภาคี สร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม

              ทั้งนี้ การจัดประกวดผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ในปี 2562 ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ผลการประกวด มีผู้ได้รับรางวัลจำนวน 4 ทีม ประกอบด้วย 

รางวัลชนะเลิศ ทีม ธาอีส อีโคเลทเธอร์ ใช้กระบวนการ New Eco-Material Solution หรือ กระบวนการรีไซเคิลขยะเศษหนังขึ้นมา เป็นวัสดุใหม่ที่มีสีสันและลวดลายของหนังแต่ละแผ่นที่ไม่เหมือนกัน เป็นเอกลักษณ์แบบ "one-of-a-kind" หรือมีชิ้นเดียวในโลก เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า สร้างสีสันให้กับวัสดุที่สวยงาม สามารถช่วยกำจัดขยะเศษหนังลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากถึง 10 ตันต่อปี

              รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีมทีไออี สมาร์ทโซลูชั่น พัฒนานวัตกรรม AI Energy platform หรือ ระบบการตรวจสอบการใช้พลังอัตโนมัติ เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูล หรือ Big Data เพื่อวินิจฉัยความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานของระบบปรับอากาศที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้อุปกรณ์ปรับอากาศเสื่อมสภาพ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียพลังงานงานโดยเปล่าประโยชน์ โดยนวัตกรรมดังกล่าว ช่วยให้ผู้ดูแลอาคารทราบถึงสาเหตุของปัญหา และสามารถดำเนินการควบคุมคุณภาพอากาศได้อย่างเหมาะสม

              รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีมออร์ก้าฟีด ใช้วิธีการกำจัดขยะที่เกิดจากเศษอาหาร หรือของเหลือจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้แมลงวันลายเข้ามากินเศษอาหาร และแปรรูปแมลง ให้กลายเป็นผงโปรตีนคุณภาพดี เพื่อส่งต่อให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งโปรตีนในแมลงวันลายมีมากกว่าโปรตีนจากเนื้อวัวถึง 10 เท่า ดังนั้น การใช้แมลงเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม หรือ upcycle จากขยะเหลือทิ้ง 1 ตัน สามารถผลิตเป็นอาหารสัตว์มูลค่ากว่า 4 แสนบาท ถือเป็นการใช้วัตถุดิบที่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

              รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 ทีมเอ็นเนอร์ยี่ รีโวลูชั่น นำระบบกังหันน้ำ หรือ Hydro Turbine มาใช้ทดแทนการทำงานของมอเตอร์ชุดขับใบพัดระบายความร้อนในระบบหอหล่อเย็น (Cooling Tower) ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมงการทำงานของระบบทำความเย็นของอาคารได้ถึง 100 – 150 กิโลวัตต์/หอหล่อเย็นใน กรณีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สามารถประหยัดได้มากกว่า 500 กิโลวัตต์ หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 15 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี จากความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตร ที่ได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ เกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจร สามารถสร้างความยั่งยืนทางพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด สร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) 

นอกจากนี้ สามารถเพิ่มยอดขายทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านบาท และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Ton Co2eq) ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เติบโตบนพื้นฐานความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานได้อย่างยั่งยืนต่อไป