ไนท์แฟรงค์ ชี้ โรงแรมภูเก็ตรอฟื้นจากแรงหนุนโครงสร้างพื้นฐาน

02 ส.ค. 2563 | 05:22 น.

นายคาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินมูลค่าทรัพย์สินและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมาตรการด้านการเดินทางภายในประเทศและทั่วโลกที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักในโรงแรมลดลงตามด้วยเช่นกัน สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกาะภูเก็ต เพราะธุรกิจการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ทั้งหมดในภูเก็ต

ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปในไตรมาสแรกถึง 33.8% เปรียบเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 1.06 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดมีปริมาณลดลง เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวนอกประเทศในเดือนมกราคม ปี 2563 ที่ผ่านมา

สภาวะตลาดซบเซาทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายจำต้องหยุดดำเนินธุรกิจและโรงแรมบางแห่งเสนอส่วนลดราคาห้องพัก จัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายและแพ็คเกจต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าภายในประเทศ

ในขณะที่ปี 2562 ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวภายในประเทศลดลง ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับปานกลางในปี 2562 หากเทียบกับปีก่อนๆ โดยปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งหมดเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ปีต่อปี ในปี 2562

ไนท์แฟรงค์ ชี้ โรงแรมภูเก็ตรอฟื้นจากแรงหนุนโครงสร้างพื้นฐาน

ในปีนี้ มีโรงแรม 11 แห่งที่มีกำหนดเปิดให้บริการ จำนวนห้องพักรวมประมาณ 2,431 ห้อง นอกจาก โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท ที่เปิดให้บริการในครึ่งแรกของปีนี้ โรงแรมอื่นๆ ที่เหลืออาจเลื่อนการเปิดบริการออกไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน โดยโครงการในตลาดโรงแรมระดับลักชัวรี่ ได้แก่ อะนายารา ลักชัวรี รีทรีต พันวา รีสอร์ท (44 ห้อง), โรงแรมอังสนา โอเชี่ยน วิว (116 ห้อง), โรงแรมไอสแลนด์ เอสเคป บาย บุราส่าหรี เฟส 2 (220 ห้อง), เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา ฉลอง เบย์ (189 ห้อง) และโนกุ ร็อคซี่ ภูเก็ต (91 ห้อง) ส่วนในตลาดโรงแรมระดับอัพสเกล ได้แก่ โรงแรมดาวา (150 ห้อง), รามาดา พลาซ่า แกรนด์ หิมาลัย รีสอร์ท (426 ห้อง), ยูโทเปีย ไม้ขาว (92 ห้อง), วินแดม ฉลอง ภูเก็ต (150 ห้อง) และโรงแรม วินแดม ในหาน ภูเก็ต (353 ห้อง)

การปิดสนามบินนานาชาติภูเก็ตในวันที่ 3 เมษายนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง ทั้งนี้ส่งผลให้ความต้องการห้องพักโรงแรมลดลงเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายจำเป็นต้องหยุดกิจการเพื่อลดค่าใช้จ่ายจนกว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว

สนามบินเปิดรับเที่ยวบินภายในประเทศในวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา คาดว่าจะเห็นการท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และหากมาตรการด้านการเดินทางต่างๆ ทั่วโลกถูกยกเลิก การท่องเที่ยวระหว่างประเทศอาจฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 หรืออาจเป็นช่วงต้นปีหน้า

โดยรวมแล้วคาดว่าอัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ตจะลดลงต่ำกว่า 50% และราคาเฉลี่ยที่พักรายวัน (ADR) จะลดลงอยู่ที่ 5-10% ปีต่อปี ในปีนี้

ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย คาดว่าจะลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และคาดว่าอัตราการเข้าพักในโรงแรมจะลดลงตามเป็นอย่างมากเช่นกัน ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากผลกระทบอันยาวนานจากการแพร่ระบาดนี้ ในระยะสั้นเศรษฐกิจของภูเก็ตที่พึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยวจะซบเซา เนื่องจากมาตรการด้านการเดินทาง 

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวภาคธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตยังคงได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น การขยายสนามบินนานาชาติภูเก็ต เฟส 2 ที่มีกำหนดการก่อสร้างในช่วงกลางปีนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสารให้ได้มากถึง 18.5 ล้านคนต่อปี และเฟส 3 ในปี 2566 ที่คาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 25 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ยังจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในภูเก็ตในปี 2567 และสนามบินนานาชาติอันดามันแห่งใหม่ในปี 2568

ภูเก็ตยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างชาติ ที่ยังคงเติบโตขึ้น โดยในปี 2562 มีห้างสรรพสินค้าเปิดตัวใหม่ถึง 3 แห่ง ยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับภูเก็ตขึ้นไปอีก ได้แก่ เซ็นทรัล ป่าตอง, ปอร์โต เดอ ภูเก็ต, และบลูทรี ภูเก็ต

ไนท์แฟรงค์ ชี้ โรงแรมภูเก็ตรอฟื้นจากแรงหนุนโครงสร้างพื้นฐาน

จากผลวิจัยไนท์แฟรงค์ประเทศไทย พบว่า หาดป่าตองมีโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกล (Upscale) มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 24% ของอุปทานรวมทั้งหมด ตามมาด้วยกะรน (15%), บางเทา (14%), กะตะ (13%) และกมลา (10%)

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีโรงแรมระดับอัพสเกลใหม่เพียงแห่งเดียวที่เปิดให้บริการในภูเก็ต คือ โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท เพิ่มจำนวนห้องพักเข้ามาในตลาดอีก 600 ห้อง โครงการนี้ตั้งอยู่ในหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ ทำให้จำนวนห้องพักโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 22,461 ห้อง ณ ครึ่งแรกของปีนี้

ไนท์แฟรงค์ ชี้ โรงแรมภูเก็ตรอฟื้นจากแรงหนุนโครงสร้างพื้นฐาน

เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงสิ้นปี 2562 อัตราการเข้าพักของโรงแรมลักชัวรี่และอัพสเกลลดลงไป 22% ปีต่อปี อยู่ที่ 38% การปิดสนามบินนานาชาติภูเก็ตชั่วคราวในเดือนเมษายนปี 2563 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำที่สุด และส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายต้องหยุดกิจการจนกว่าตลาดจะฟื้นตัว

ราคาเฉลี่ยที่พักรายวัน (ADR) ของโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลลดลงไป 6% ปีต่อปี อยู่ที่ 3,840 บาท ซึ่งการปรับลดลงครั้งนี้เป็นระดับราคาที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ไนท์แฟรงค์ ชี้ โรงแรมภูเก็ตรอฟื้นจากแรงหนุนโครงสร้างพื้นฐาน