“ลุงตู่” ต้องไปฟ้อง ไล่เบี้ยค่าโง่โฮปเวลล์ 2.3 หมื่นล้าน

28 ก.ค. 2563 | 11:00 น.

“ลุงตู่” ต้องไปฟ้อง ไล่เบี้ยค่าโง่โฮปเวลล์ 2.3 หมื่นล้าน : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3596 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

“ลุงตู่”ต้องไปฟ้อง

ไล่เบี้ยค่าโง่โฮปเวลล์

2.3 หมื่นล้าน
 

     22 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30 น. คนไทยตกตะลึงอ้าปากค้างไปตามๆ กันอีกรอบ เมื่อศาลปกครองกลาง นัดฟังคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด กรณีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ โดยอ้างว่ามีการรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดและมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลง
 

     ปรากฎว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืน ตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่เคยมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่
 

     ผลที่ตามมาจากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดทันทีคือ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จะต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จนถึงปัจจุบันเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 24,972 ล้านบาท...ก้อนมหึมาทีเดียว
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ค่าโง่โฮปเวลล์” ความเจ็บปวด ของคนไทย

“ศักดิ์สยาม” จ่อสู้คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์”

เปิดเหตุผลศาลปค.สุงสุดไม่รื้อคดี”ค่าโง่โฮปเวลล์”2.4หมื่นล้าน

ปิดฉาก“ค่าโง่โฮปเวลล์”รัฐต้องจ่าย2.4หมื่นล้านบาท

 

     ก่อนหน้านี้ เมื่อวันนี้ 23 ส.ค.2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มาแล้ว เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 หมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 ที่ให้ผู้ร้องทั้งสองคือกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้าน

“ลุงตู่” ต้องไปฟ้อง ไล่เบี้ยค่าโง่โฮปเวลล์ 2.3 หมื่นล้าน

     แต่ผู้ร้องทั้งสองได้มีคำร้องยื่นต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยได้โต้แย้งเรื่องความสามารถในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทยของโฮปเวลล์ ในขณะเข้าทำสัญญาพิพาท โดยพบว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งอาจขัดกับข้อบังคับตามบัญชี ข. ท้ายประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 (ปว.281) ที่ห้ามคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวประกอบกิจการขนส่งทางบก
 

     ขณะเดียวกัน ได้ยกคำคัดค้านว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดมิได้ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี ถือว่าเป็นข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม
 

     แต่สุดท้ายของปลายทางแห่งคดี ศาลปกครองสูงสุดสั่งไม่รื้อคดีขึ้นใหม่ ปิดฉากค่าโง่แบบสมบูรณ์พูนสุข..บนความทุกข์บ่นบ่าของคนไทย
 

     วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 นักข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้กับเอกชน 2.4 หมื่นล้านบาทอย่างไร นายกฯ บอกว่า เพิ่งทราบคำตัดสินของศาล เดี๋ยวต้องหาทางต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร
 

     นักข่าวถามว่า จะมอบหมายให้ใครดูแลเป็นพิเศษ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว คราวที่แล้วเป็นผู้ขออุทธรณ์ขึ้นไป ส่วนจะใช้งบประมาณจากไหนนั้น คงต้องไปหาทางต่อไป จะมาตอบตอนนี้ ยังไม่ได้ ท่านก็รู้ว่ารายได้ รายรับ รายจ่ายของเราเป็นอย่างไร แต่มันมีอยู่หลายวิธีการ วันหน้าก็ติดตามกัน ขอให้กระทรวงคมนาคมไปแก้ปัญหาตรงนี้อยู่
 

     แปลง่ายๆ ว่า นายกฯยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน มาจ่ายค่าโง่ก้อนโต
 

     นักข่าวถาม อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกฯว่า รัฐบาลต้องชดใช้เงินในจำนวนดังกล่าวใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า คำพิพากษาจะเป็นการบังคับคดี ซึ่งการบังคับคดีก็เป็นไปตามกำหนดระยะเวลา ไม่จำเป็นต้องปัจจุบันทันด่วน และก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการเจรจาเหมือนกัน เพราะหลังจากนี้ เราก็ยังสามารถเจรจากับเอกชนได้อยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาก็เคยเจรจามาแล้ว แต่ในครั้งนั้นไปเกี่ยงอะไรก็ไม่รู้ จำไม่ได้ นึกไม่ออก
 

     แปลความว่า รัฐบาลมีทางออกในการจ่ายเงินตามคำสั่งศาลที่ตัดสินและมีสภาพของการบังคับคดีไปแล้วแค่ทางเดียว นั่นคือการเจรจากับเอกชนเพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องจ่าย
 

     ประเด็นคือจะเจรจาจาอย่างไร ลดหนี้ค่าโง่ที่รัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งได้ทำกรรมไว้กับประเทศนี้ไว้ได้แค่ไหน
 

     ผมพามาดูนี่ คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด อิงตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 ว่า ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จ่ายค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร วงเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี โดยต้องจ่ายภายใน 180 วัน

“ลุงตู่” ต้องไปฟ้อง ไล่เบี้ยค่าโง่โฮปเวลล์ 2.3 หมื่นล้าน

     ถ้านับเฉพาะดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมาตั้งแต่ปี 2551 เท่ากับว่า รัฐต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 891 ล้านบาท รวมกัน 12 ปี จึงไม่น้อยกว่า 10,699 ล้านบาท และต้องคืนเงินจากหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ เงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท ให้อีก สิริรวมแล้ว ไม่น้อยกว่า 23,026 ล้านบาท
 

     ดอกเบี้ยที่จ่ายนั้นผมยึดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ระบุใน “มาตรา 655  ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ” นะครับ
 

     การรถไฟจะหามาจากไหนไปจ่ายเขาละพี่น้อง เชื่อหรือไม่ว่างบการเงินของการรถไฟฯ นั้นไม่เป็นปัจจุบัน จนบัดป่านนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังไม่รับรองงบ และงบที่เปิดเผยก็เป็นปี 2557 โน่น
 

     แต่ผมไปสอบถามมาได้ดังนี้ ปี 2561 รฟท.มีสินทรัพย์รวม 649,198 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 206,793 ล้านบาท สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 255,115 ล้านบาท เงินชดเชยตามกฎหมายค้างรับ 166,321 ล้านบาท
 

     มีหนี้สินรวม 604,449 ล้านบาท เป็นหนี้สินจากรายได้เงินอุดหนุนรัฐบาล 311,432 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาว 181,428 ล้านบาท มีส่วนของทุนแค่ 44,749 ล้านบาท
 

     ปี 2561 รฟท.มีรายได้รวม 15,770 ล้านบาท เป็นรายได้จากการขนส่ง 5,762 ล้านบาท
 

     อะแฮ่ม รายได้ส่วนนี้กว่า 700 ล้านบาท มาจากการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ตอนนี้ขายให้กลุ่มซีพีไปแล้ว มีรายได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 3,857 ล้านบาท รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ 3,522 ล้านบาท 
 

     ค่าใช้จ่ายรวมสูงถึง 27,447.28 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินรถ ค่าใช้จ่ายบำรุงทาง อาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบำรุงรักษารถจักรและล้อเลื่อน ค่าใช้จ่ายเดินรถขนส่ง ค่าใช้จ่ายระบบขนส่งแอร์พอร์ทเรลลิ้ง 14,796 ล้านบาท
 

     เมื่อนำรายได้จากการขนส่งมาหักลบค่าใช้จ่าย รฟท.ขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 9,033 ล้านบาท
 

     อันนี้ไม่รวมค่าเสื่อมราคา 5,659 ล้านบาท กับค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญอีก 4,316 ล้านบาท หากรวมกันก็พบว่าในปี 2561 รฟท.ขาดทุนไปยับเยิน 14,859 ล้านบาท
 

     ทางออกคือ ต้องไปไล่เบี้ยเอาจากผู้ร่วมกระทำความผิดครับ เพราะคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดนั้นระบุชัดว่า ...
 

     “ข้อโต้แย้งเรื่องความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์ ขณะเข้าสัญญา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติฯ รมว.คมนาคม ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญา เป็นบุคคลที่อยู่ร่วมในครม. ย่อมต้องรู้ว่าบริษัทโฮปเวลล์ฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากครม. อีกทั้งกระทรวงคมนาคมฯ ยอมรับในคำขอพิจารณาคดีใหม่ว่า บริษัท โฮปเวลล์ ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้ประกอบธุรกิจประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชี ค. ท้ายประกาศคณะปฏิวัติฯ และกรณีนิติบุคคลต่างด้าวจะประกอบกิจการตามที่ลงนามในสัญญาจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าก่อน จึงเป็นข้อบัญญัติกฎหมายที่กระทรวงคมนาคมฯ จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ แต่ควรต้องตรวจสอบเรื่องความสามารถของคู่สัญญาก่อนลงนาม อีกทั้งร่างสัญญาจะต้องผ่านการตรวจจากกรมอัยการขณะนั้นก่อนลงนาม
 

     การที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ไม่ตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และไม่เคยยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้มาก่อน ทั้งในชั้นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลปกครองเลย จึงเป็นความบกพร่องของกระทรวงคมนาคม และ รฟท.เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองไม่ทราบถึงความมีอยู่ของพยานหลักฐานนั้น ในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ดังนั้นเอกสารที่ทั้งสองกล่าวอ้างจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ที่จะทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ”
 

     อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวลครับ!