บทเรียน ทหารอียิปต์ "ไทย" กำลังเล่นกับ "ไฟ"

14 ก.ค. 2563 | 18:15 น.

“หมอธีระ” เตือน รัฐ กำลังเล่นกับ “ไฟ” ที่พร้อมจะเผาผลาญได้เสมอหากประมาท ชี้ ทั่วโลกที่เจอการระบาดโควิด-19 ระลอกสอง ล้วนมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ย้ำ “คัดกรอง-กักตัว-ติดตาม”องค์ประกอบสำคัญต้องเคร่งครัด ไม่มีอภิสิทธิชน-ไม่สองมาตรฐาน

กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญจากกรณีของ ทหารอียิปต์ และลูกทูตซูดาน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องหันกลับมาทบทวนเร่งด่วนเรื่องมาตรการการเฝ้าระวังความปลอดภัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มากยิ่งแล้วนั้น รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat เตือนรัฐบาลอีกครั้ง ใจความว่า  

วันนี้รัฐแจ้งว่า มีติดเชื้อเพิ่ม 7 คน มาจากต่างประเทศ ยอดรวม 3,227 คน ขอให้ปลอดภัยทุกคนครับ

กรณีทหารอียิปต์ และลูกของฑูตจากประเทศซูดานที่เป็นข่าวกันเมื่อวานนี้ เชื่อว่า เราทุกคนคงเอาใจช่วยให้หายไวไวเช่นกัน

การเกิดกรณีดังกล่าวนั้น สอนให้เราเรียนรู้หลายเรื่อง...

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทอ.แจง “ทหารอียิปต์” ลงจอดสนามบินอู่ตะภาเพราะพันธะทางทหารที่มีต่อกัน

“ทหารอียิปต์” มาไทย ไม่เกี่ยวกับ “บิ๊กแดง” โฆษกทบ.วอนอย่าเชื่อมโยง

แฉ “ทหารอียิปต์” มีคนหนีจากที่พัก “ผอ.อู่ตะเภา” ยันตรวจโควิดเข้มแล้ว 

หนึ่ง มาตรฐานการควบคุมป้องกันโรคนั้นควรมีมาตรฐานเดียว มีความเคร่งครัด ต้องไม่ลัดขั้นตอน เพราะหากมีการดำเนินการแบบหลายแนวหลายมาตรฐานจะก่อให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติ และมีผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน

สอง มาตรฐานของระบบควบคุมป้องกันโรคที่ต้องมีนั้น ประกอบด้วย 3 เรื่องหลักที่ต้องมีอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด ได้แก่

1. การคัดกรอง...ไม่ควรเชื่อหรืออิงผลการตรวจจากประเทศต้นทาง เพราะอาจใช้วิธีที่แตกต่างกัน หรือมาตรฐานแตกต่างกัน หรือช่วงเวลาการตรวจก่อนเดินทางไม่ว่าจะกี่วันก็ล้วนมีผล

ดังนั้นการตรวจที่ไทยยังจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR โดยคำนึงถึงเสมอว่าความไวเพียง 87% มีโอกาสหลุดได้ถึง 13%

2. การกักตัวเพื่อสังเกตอาการและเพื่อตรวจคัดกรองซ้ำในระยะเวลา 14 วัน

คนที่เดินทางจากต่างประเทศนั้นมีความเสี่ยงที่จะนำพาเชื้อเข้ามาในประเทศได้ เพราะสถานการณ์การระบาดทั่วโลกยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แม้จะผ่านการคัดกรองครั้งแรกก็จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่ได้มาตรฐาน ไม่ปะปนกับคนอื่น และเป็นระบบปิด

ไม่ใช่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี

ไม่ใช่นึกจะโบกแท็กซี่ไปเที่ยวห้างก็ทำได้โดยไม่แคร์

หากไม่สามารถกักตัวได้ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น มาแวะเพียงวันสองวัน ก็จำเป็นต้องเลือกว่าจะ "กักตัวเค้า หรือจะกักตัวเรา" นั่นคือ หากไม่กักเค้า คนไทยที่พบปะกับเค้าก็ควรได้รับการกักตัวแทน

กักเค้า...หรือกักเรา คือสิ่งที่เลือกได้ให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ ปกป้องคนไทย ไม่ให้มีการติดเชื้อในประเทศ

3. การติดตาม...

เราจำเป็นต้องรู้ว่า คนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้นไปอยู่ที่ใดบ้าง พักที่ไหน เดินทางอย่างไร ไปเจอใคร ไปโต๋เต๋กี่ที่ วันเวลาใดบ้าง

เพื่อให้แน่ใจว่า การเข้ามาในประเทศนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับ และสามารถตรวจสอบได้เวลาเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

จะได้ไม่เกิดปัญหาแบบที่เราเห็นเมื่อวานว่า พอออกข่าวมีคนติดเชื้อ แต่รัฐกลับไม่มีข้อมูลที่แม่นยำเพียงพอที่จะประกาศต่อสาธารณชนได้ว่า พื้นที่เสี่ยง คือ ที่ใดบ้าง โรงแรมใด ห้างใด คอนโดใด

พอรัฐไม่ชัวร์ ก็จะไม่สามารถประกาศได้ เพราะหากผิดพลาดก็อาจเกิดผลกระทบตามมา เช่น การฟ้องร้อง เป็นต้น

แต่เราก็เห็นชัดเจนว่า การที่ไม่สามารถประกาศได้อย่างทันกาลนั้น ทำให้ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองในการสืบหา ข่าวแชร์กันว่อน ถูกบ้างผิดบ้างปนเปกันไป และเกิดผลกระทบใหญ่หลวงตามมา เช่น ทั้งจังหวัดเกือบปิดไปโดยปริยาย โรงแรมหลายต่อหลายแห่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ถูกยกเลิกงานประชุม รวมถึงห้องพักต่างๆไปหมด นอกจากนี้กิจการห้างร้านต่างๆก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ประเมินความสูญเสียครั้งนี้ถือว่ามากมายจริงๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เราคงเห็นผลกระทบต่อเด็กๆ ที่โรงเรียนมากมายทั้งในระยองและในกทม.ก็ประกาศปิด ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดไปแว่บเดียว

...ระบบการควบคุมป้องกันโรคที่ได้มาตรฐานนั้น ต้องครบองค์ 3 คือ คัดกรอง กักตัว และติดตาม...โดยต้องเคร่งครัด ไม่มีอภิสิทธิชน ไม่สองมาตรฐาน แต่ปรับกระบวนการให้เข้ากับลักษณะกลุ่มเป้าหมายได้โดยไม่ลดมาตรฐาน และก่อนประกาศมาตรการไปบังคับใช้ ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วนในทุกกระบวนการจริง และคิดล่วงหน้าว่าแต่ละกลุ่มเป้าหมายนั้นเค้าทำได้ตามมาตรฐานจริงไหม ถ้าไม่แน่ใจหรือไม่รู้ก็ไม่ควรประกาศ

สำคัญที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมาย และระเบียบ หากมีการละเมิด ไม่ปฏิบัติตาม

บทเรียนนี้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ระบบที่เรามั่นใจว่าดีนั้น ยังมีจุดอ่อนอย่างชัดเจนในทุกกระบวนการหลัก ตั้งแต่คัดกรอง กักตัว และติดตาม

แถมบทเรียนนี้ยังสอนเราอีกว่า เรากำลังเล่นกับ"ไฟ"ที่พร้อมจะเผาผลาญเราได้เสมอหากเราประมาท

ทั่วโลกที่เจอการระบาดระลอกสองนั้น ล้วนมาจากเคสที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

ไทยจึงควรรู้จักความพอเพียง...แง้มให้ 11 กลุ่มเป้าหมายก็เสี่ยงมากแล้ว ประสบการณ์ของประเทศอื่น เค้าจะเจอปัญหาหลังจากเปิดรับไปราว 2-6 สัปดาห์ โดยพอเกิดระลอกสองแล้วจะยุ่งยากเป็นลิงแก้แห...ไม่ใช่ลิงเก็บมะพร้าว

อย่าคิดจะมากดดันผลักดันให้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามแนวคิดฟองสบู่ท่องเที่ยว จำเป็นจะต้องวางบนหิ้งไปอีกยาวอย่างน้อย 6 เดือนแล้วค่อยมาประเมินสถานการณ์อีกที

ขอเอาใจช่วยชาวกทม.และระยองครับ ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ช่วยกันใส่หน้ากาก...ล้างมือบ่อยๆ...อยู่ห่างคนอื่นๆ...พูดน้อยลง...พบปะคนน้อยลงสั้นลง...เลี่ยงที่อโคจร...และหมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว

ส่วนใครที่ได้รับการแจ้งเตือนจากไทยชนะ หมอชนะ...ก็โปรดไปตรวจ และสังเกตอาการตนเองด้วยนะครับ ขอให้ปลอดภัยทุกคนครับ

ประเทศไทยต้องทำได้...

ด้วยรักต่อทุกคน...

 

ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดระบุผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุด (14 ก.ค.2563) พบว่า ประเทศอินเดียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ 3 ของโลก มีผู้ติดเชื้อ จำนวน 907,645 คน เสียชีวิต จำนวน 23,727 คน และรักษาหาย จำนวน 572,112 คน