จีนส่องรูปแบบปฏิบัติการ-งบทางทหารของสหรัฐ

27 มิ.ย. 2563 | 03:28 น.

รู้เขารู้เรา “จีน”ส่องรูปแบบปฏิบัติการ-งบทางทหารของสหรัฐ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เผยสหรัฐผวาจีน-รัสเซียเตรียมรับสงครามสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต

วันนี้ ( 27 มิ.ย.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ กรณีที่สถาบันวิจัยทะเลจีนใต้ของจีน ได้เผยแพร่รายงานว่าด้วยกำลังทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี ๒๐๒๐ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย.๖๓  สถาบันวิจัยทะเลจีนใต้ของจีน ( National Institute for South China Sea Studies) ได้จัดการประชุมเผยแพร่รายงานว่าด้วยกำลังทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี ๒๐๒๐ โดยมีสำนักข่าวต่างๆ ทั้งที่เป็นสื่อของจีนเองและสื่อของต่างประเทศ รวมเกือบ ๓๐ แห่ง และนักวิชาการจากสถาบันวิจัยหลายแห่งตลอดจนผู้แทนจากสถานทูตต่างประเทศในจีน กว่า ๑๐ ประเทศและภูมิภาครวมถึงสหรัฐฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ฯลฯ รวมเกือบ ๘๐ คน เข้าร่วมการประชุมรับฟังรายงานดังกล่าว 

จีนส่องรูปแบบปฏิบัติการ-งบทางทหารของสหรัฐ

โดยในครั้งนี้ถือเป็นการจัดรายงานครั้งที่ ๓  เนื่องจากก่อนหน้านี้ ที่ทางสถาบันวิจัยทะเลจีนใต้เคยจัดให้มีการรายงานฯ มาแล้ว ๒ ครั้ง ได้แก่ รายงานว่าด้วยกำลังทหารของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี ๒๐๑๖ และรายงานว่าด้วยกำลังทหารของญี่ปุ่น ประจำปี ๒๐๑๘ 
๒. กรอบแนวคิดในการวิจัยของรายงานนี้มีพื้นฐานมาจากการปรับเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯ ว่าด้วย "การปรับสมดุลเอเชีย-แปซิฟิก" ( Asia-Pacific Rebalancing) ไปสู่ "ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก" (  Indo-Pacific Strategy) 
 

โดยมุ่งเน้นไปที่การวางกำลังทางทหารและสถานะทางทหารล่าสุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อทำการทบทวนและวิเคราะห์กิจกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ซึ่งในรายงานฉบับนี้ แบ่งออกเป็น ๕ บท ได้แก่
     ๒.๑ บทที่ ๑ นำเสนอเกี่ยวกับวิวัฒนาการของนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิก และ "ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

     ๒.๒ บทที่ ๒ นำเสนอเกี่ยวกับการวางกำลังทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
     ๒.๓ บทที่ ๓ นำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 
     ๒.๔ บทที่ ๔ นำเสนอความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงพันธมิตร
     ๒.๕ บทที่ ๕ นำเสนอบทบาทของสหรัฐฯ หลังจากการรื้อฟื้นยุทธศาสตร์การแข่งขันของมหาอำนาจ กับการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และบทบาทเชิงบวกของความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศในการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของภูมิภาค  


๓. ข้อสังเกต ในการประชุมครั้งนี้ ดร.อู๋ ซื่อฉุน (Wu Shicun) คณบดีสถาบันวิจัยทะเลจีนใต้ของจีน และศาสตราจารย์ ดร.จู เฟิง ( Zhu Feng) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือการวิจัยทะเลจีนใต้มหาวิทยาลัยหนานจิง ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งร่วมกันตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวสื่อและนักการทูตในประเทศจีน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในช่องแคบไต้หวันด้วย 

 

บทสรุป ในรายงานว่าด้วยกำลังทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี ๒๐๒๐ ดังกล่าว ได้เรียบเรียงและวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ รวมทั้งข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการวางกำลังทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการวิเคราะห์ถึงรายงานงบประมาณของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในปี ๒๐๒๐ ที่เน้นถึงการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ จากจีนและรัสเซีย โดยอ้างว่าจีนและรัสเซียเริ่มขยายอิทธิพลในระดับโลก และพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต 
อย่างไรก็ตาม สถานะปัจจุบันของความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ส่งผลโดยตรงต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนี่คือเหตุผลที่สำคัญว่าทำไมประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคจึงหลีกเลี่ยงจาก "การเลือกข้าง"  ระหว่างจีนและสหรัฐฯ