จีนเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจ อัดฉีดอีก 1.2 แสนล้านเข้าตลาด

26 มิ.ย. 2563 | 08:29 น.

จีน เป็นประเทศที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดหมายว่า จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังจะสามารถมี การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปีนี้ ขณะที่หลายประเทศรวมทั้งไทยต้องพบกับภาวะเศรษฐกิจติดลบ โดยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook: WEO) ฉบับปรับปรุงในเดือนมิ.ย. 2563 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีน จะเติบโตที่อัตรา 1.0% ในปี 2563 และจะพุ่งขึ้นในอัตราแรงขึ้นที่ 8.2% ในปี 2564

จีนเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจ อัดฉีดอีก 1.2 แสนล้านเข้าตลาด

หลังจากประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์สกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 อย่างเข้มงวดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ประเทศจีนที่เริ่มเปิดธุรกิจอีกครั้งในเดือนเม.ย.และมียอดการติดเชื้อรายใหม่น้อยที่สุด ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้อัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบธนาคารอีกครั้งเมื่อต้นสัปดาห์นี้ (22 มิ.ย.) ผ่านทางข้อตกลง reverse repos โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาสภาพคล่องในระบบให้เพียงพอที่จะสนับสนุนสเถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไป

 

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 มิ.ย.) ธนาคารกลางของจีนได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดมูลค่ารวม 120,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 16,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการดำเนินการผ่านข้อตกลง reverse repos ประเภทอายุ 7 วัน ที่อัตราดอกเบี้ย 2.2% มูลค่า 40,000 ล้านหยวน และข้อตกลงประเภทอายุ 14 วัน ที่อัตราดอกเบี้ย 2.35% มูลค่า 80,000 ล้านหยวน

 

เว็บไซต์ของธนาคารกลางจีนระบุว่า การอัดฉีดสภาพคล่องครั้งล่าสุดนี้ มีเป้าหมายเพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคารให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า reverse repo เป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ด้วยข้อตกลงที่จะขายคืนในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานแผนการดำเนินงานประจำปี 2563 ของรัฐบาลจีนระบุว่า จีนจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบระมัดระวัง โดยจะอยู่ในแนวทางที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ จีนจะใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึง การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และโครงการเงินกู้แบบ re-lending หรือการปล่อยกู้เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ต่อ

 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนนั้นได้กลับมาสร้างความวิตกกังวลครั้งใหม่เมื่อมีรายงานยอดตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศจีน รวมทั้งกรุงปักกิ่ง เมืองหลวง ซึ่งก่อนหน้าที่จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อต้นเดือนมิ.ย.นี้ สามารถทำสถิติปลอดผู้ติดเชื้อใหม่มาได้ถึง 50 วัน ทำให้เกิดคำถามว่า จีนกำลังเผชิญการแพร่ระบาดระลอกสองใช่หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็จะถูกเหนี่ยวรั้งให้ต้องชะลอและล่าช้าไปจากที่คาดการณ์ไว้    

จีนเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจ อัดฉีดอีก 1.2 แสนล้านเข้าตลาด

“การกลับมาพบผู้ติดเชื้อรอบใหม่ในกรุงปักกิ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า หนทางที่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติเหมือนที่เคยเป็น (ก่อนที่โควิด-19 จะอุบัติขึ้น) เป็นหนทางที่ยากลำบากและไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับจีนอย่างแน่นอน” นักวิเคราะห์กล่าว

 

นายห่าว โจว นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 จะไม่สะดวกราบรื่นอย่างที่เคยคาดคิดกันไว้ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีนเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก และระยะหลัง ๆ ก็ได้รับแรงหนุนจากข่าวการเจรจาการค้ากับสหรัฐที่ฮาวายซึ่งได้ผลในเชิงบวก แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ยังออกมาแสดงความคิดเห็นที่เป็นปรปักษ์กับจีนมาตลอด

 

นอกจากนี้ แม้ว่าในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แล้วในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ยอดจำหน่ายรถยนต์ และการจับจ่ายใช้สอยในภาคบริการ ขยับสูงขึ้นและเป็นความหวังว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว แต่เมื่อมีรายงานข่าวว่า โควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในหลายเมืองใหญ่รวมทั้งปักกิ่ง ทำให้ความหวังดังกล่าวหรี่ลงอีกครั้ง เนื่องจากความหวั่นวิตกเกี่ยวกับโรคระบาดทำให้ผู้บริโภคยังไม่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากนัก รวมไปถึงการนั่งกิน-ดื่มตามร้านอาหาร ผับ บาร์ คาเฟ่ นัดพบปะสังสรรค์-เที่ยวจับจ่ายซื้อของ รวมถึงการใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ   

ข้อมูลอ้างอิง