กระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน ‘ซ่อม-สร้างถนน’ พุ่ง 12,340 โครงการ

28 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

งบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พบว่ามีข้อเสนอโครงการเข้ามาจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

 

ส่งผลการวิเคราะห์โครงการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน ต้องล่าช้าไปกว่ากำหนด แต่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็เชื่อว่าจะสามารถวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จในเบื้องต้น ภายในวันที่ 26 มิถุนายน และสามารถส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อพิจารณาได้ทันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ก่อน นำส่งโครง การที่ผ่านการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กำหนดไว้ในวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 

 

จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ ThaiME (http://thaime.nesdc.go.th) ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2563 พบโครงการที่มีเสนอเข้ามา ในรอบที่ 1 รวมทุกแผนงาน จำนวน 46,411 ข้อเสนอ ขอรับจัดสรรงบ วง เงินกว่า 1,448,474 ล้านบาท ประกอบด้วย

 

แผนงานที่ 3.1 ลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำนวน 160 โครงการ ขอรับจัดสรร 277,490 ล้านบาท คิดเป็น 19.2%

 

แผนงานที่ 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ข้อเสนอ 44,960 โครงการ ขอรับจัดสรร 513,793 ล้านบาท คิดเป็น 35.5%

 

แผนงานที่ 3.3 ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนและเอกชน นโยบายเกี่ยวกับท่องเที่ยว อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

แผนงานที่ 3.4 สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต จำนวน 1,264 โครงการ ขอรับจัดสรร 612,897 ล้านบาท คิดเป็น 42.3%

 

ทั้งนี้ มีโครงการที่ “สอดคล้องกับหลายแผนงาน” จำนวน 27 โครงการ วงเงินจัดสรร 44,293 ล้านบาท  

 

ส่วนโครงการที่ขึ้นชื่อว่า “ถนน” พบตั้งโครงการเพิ่มขึ้นรวม 12,340 โครงการ จากจำนวน 46,411 ข้อเสนอ มีทั้งการสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุง พัฒนาเส้นทางขนส่ง ลาดยาง พัฒนา 2 ข้างทาง

 

ขณะที่โครงการที่หน่วยงาน 3 เหล่าทัพ สังกัดกระทรวงกลาโหม เสนอ  ขณะนี้พบมี 10 โครงการ ที่เสนอในแผนงานที่ 3.2 อาทิ ปรับปรุงภูมิทัศน์สายไฟฟ้า และสายสื่อสารเป็นระบบท่อร้อยสายลงดิน ในพื้นที่ตลาดสัตหีบ ขอรับจัดสรรงบ 80,000,000 บาท เสนอโดย ฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม ในพื้นที่จ.ชลบุรี

 

กระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน ‘ซ่อม-สร้างถนน’ พุ่ง 12,340 โครงการ

 

โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร “โครงการทหารพันธุ์ดี” ขอรับจัดสรร 1,700,000 บาท เสนอโดยค่ายเม็งรายมหาราช มณฑลทหารบกที่ 37 จ.เชียงราย 

 

พัฒนาปรับปรุงทัศนียภาพ ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ และฐานกรุงเทพ ขอ รับจัดสรร 1,800,000 บาท  เสนอโดย กองพลทหารม้าที่ 1 จ. เพชรบูรณ์

 

 

โครงการบริหารจัด การนํ้าแบบบูรณาการจังหวัดเชียงราย ขอรับจัดสรร 745,813,089 บาท เสนอโดย สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.เชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ในพื้นที่ จ.เชียงราย

 

โครงการที่เสนอโดย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) จ.ลพบุรี ขอวงเงินรวม 74,426,400 บาท ประกอบด้วย 

 

1. ปรับปรุงร้านสมาคมแม่บ้าน นสศ. ต.ทะเลชุบศร อ.เมืองลพบุรี ขอรับจัดสรร 2,000,000 บาท 

 

2. ปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน นสศ. ต.ท่าศาลา อ.เมืองลพบุรี ขอรับจัดสรร 18,736,400 บาท 3. ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ ต.ป่าตาล อ.เมืองลพบุรี ขอรับจัดสรร 23,390,000 บาท 

 

4. ปรับปรุงสวนสัตว์ลพบุรี นสศ. ต.ทะเลชุบศร อ.เมืองลพบุรี ขอรับจัดสรร 26,100,000 บาท และ 5. ขุด ลอกบ่อกักเก็บนํ้าธรรมชาติ รพศ.3 รอ. ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี ขอรับจัดสรร 4,200,000 บาท

 

นอกจากนี้มี โครง การอาคารส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว ขอรับจัดสรร 10,000,000 บาท เสนอโดย กองทัพบก พื้นที่ จ.ตรัง

 

ก่อนหน้านี้ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร ออกมาตั้งคำถามชวนให้ร่วมกันฉุกคิดเกี่ยวกับ “อนาคตเศรษฐกิจประเทศ ไทย” บนเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “อีก 150 วัน คนไทยจะเจออะไร กับงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน ที่มีแต่การสร้างถนน? และการก่อสร้าง ซึ่งไม่แน่ใจว่าตรงกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่

 

 

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า ในช่วงก่อนที่จะให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณานั้น สภาพัฒน์จะเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาแสดง ความคิดเห็นต่อข้อเสนอโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ผ่านทางระบบ ThaiME (http://thaime.nesdc.go.th) เพื่อใช้ประกอบการกลั่นกรองโครงการต่อไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบและโปร่งใส

 

นายทศพร กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่ภาคส่วนต่างๆ ยังมีความกังวลว่าบางข้อเสนอโครงการอาจมีความไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ขอยืนยันว่า คณะทำงานของ สศช. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ ประกอบด้วยนักวิชาการผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา ได้วิเคราะห์โครงการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือการใช้เงินกู้นี้จะต้องตรงตามวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั่วถึงเที่ยงธรรม เน้นความคุ้มค่าและมีมาตรการป้องกันการทุจริต 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,587 หน้า 10 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2563