พปชร.ควบรวมพรรค ยึดโมเดล ‘ทักษิณ’

25 มิ.ย. 2563 | 04:25 น.

 

พลันที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำรัฐบาล มาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแม่ทัพและปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคใหม่ ในการประชุมใหญ่สามัญพรรค วันที่ 27 มิ.ย.นี้ โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมานั่ง บัญชาการเองในเก้าอี้หัวหน้าพรรค

 

ส่วนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะมีเพียง 29 คน จากปัจจุบันมี 34 คน อาทิ นายอนุชา นาคาศัย จะเป็นเลขาธิการพรรค ส่วนรองหัวหน้าพรรคจากเดิม 4 คน จะเพิ่มเป็น 9 คน ประกอบด้วย 1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 2.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 3.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 4.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 5.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 6.นายสุชาติ ชมกลิ่น 7.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 8.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ 9.นายสันติ พร้อมพัฒน์ จะเป็นรองหัวหน้าพรรคควบผู้อำนวยการพรรค

 

พรรคเล็กยุบรวมพปชร.

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่เฉพาะส.ส.ในพปชร.เท่านั้น ที่ต้องปรับตัว แต่ส่งผลให้พรรคขนาดเล็กที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทยอยแจ้งยุบพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไปรวมกับพรรค พปชร. ซึ่งเป็นโมเดลของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และปัจจุบันเป็นรักษาการรองหัวหน้าพรรค พปชร.

 

พรรคขนาดเล็กที่เตรียมแจ้งยุบพรรค ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย ที่มี พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อไปรวมกับ พปชร. รวมถึง พรรคประชานิยม ของ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ หัวหน้าพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะยุบไปรวมกับ พปชร.ด้วย

 

 

ยึดโมเดล“ทักษิณ”

 

ความเคลื่อนไหวของพรรค การเมืองที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องการเมืองวิถีใหม่ แต่ในช่วงปี 2544 “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นคนเริ่มแนวคิดควมรวบพรรคการเมือง และ กลุ่ม ก๊วนการเมือง มารวมอยู่ใต้ชายคา “ไทยรักไทย” (ทรท.) มาแล้ว  

 

พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย เมื่อวันที่  6 มกราคม 2544 ได้เสียงมากถึง 248 เสียง โดยเป็นแกนนำก่อตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคชาติพัฒนา และพรรคเสรีธรรม เข้าบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 

 

พปชร.ควบรวมพรรค ยึดโมเดล ‘ทักษิณ’

 

ต่อมาพรรคเสรีธรรม มีนายนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นหัวหน้าพรรค ต่อจากนายพินิจ จารุสมบัติ การเลือกตั้งในครั้งนั้น ได้รับที่นั่งในสภาจำนวน 14 ที่นั่ง แต่ไม่ได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่ที่นั่งเดียว 

 

พรรคเสรีธรรม ท้ายที่สุด เสรีธรรม ยอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคไทยรักไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 จนกลายมาเป็นกลุ่มการเมืองหนึ่งในพรรคไทยรักไทยที่ชื่อกลุ่ม “วังพญานาค” ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.เพิ่มเป็น 262 คน เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา เป็นครั้งแรกในประวัติ ศาสตร์ของประเทศไทย

 

ทักษิณ ยังต้องการดึงพรรคความหวังใหม่เข้ามาอีก เพื่อให้พรรคไทยรักไทยพรรคเดียวมีเสียงเกิน 300 เสียง วันที่ 28 มีนาคม 2545 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งที่ 7/2545 ให้ยุบพรรคความหวังใหม่เข้ารวมกับพรรคไทยรักไทย โดยมี ส.ส.ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทย 32 คน 

 

“ทักษิณ” ใช้กลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งในการบริหารประเทศ  โดย ดึงพรรคการเมืองต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับพรรคไทยรักไทย ส่งผลให้ พรรคไทยรักไทย กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีนักการเมืองหลายกลุ่ม หลายก๊วน

 

ก๊วนการเมืองใน“ทรท.”

 

ในพรรคความหวังใหม่ กลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุดขณะนั้น หนีไม่พ้น “กลุ่มวังนํ้าเย็น” โดย “เจ้าพ่อวังนํ้าเย็น” เสนาะ เทียนทอง เป็นแกนนำ ตอนหลังถูกลดบทบาทความ สำคัญในพรรคลง กระทั่งในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2548 นายเสนาะได้วิพากษ์วิจารณ์ ทักษิณ อย่างรุนแรง

 

“กลุ่มวาดะห์” มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่ม เมื่อย้ายมาสังกัด พรรคไทยรักไทย ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และได้เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี

 

“กลุ่มวังนํ้ายม” มี สมศักดิ์ เทพสุทิน  และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ   เป็นแกนนำ หลังแยกมาจากพรรคกิจสังคมเข้าซบไทยรักไทย สุริยะได้นั่งเก้าอี้เลขาธิการ ขณะที่นายสมศักดิ์ เป็นรองหัวหน้า 

 

“กลุ่มบ้านริมนํ้า” มี “สุชาติ ตันเจริญ” เคยเป็นรองหัวหน้าพรรค การเมืองถึง 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคไทยรักไทย ต่อมาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรค จึงได้นำสมาชิกในกลุ่มบ้านริมนํ้า ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคภูมิใจไทย ปัจจุบัน สุชาติ สังกัด พปชร.

 

กลุ่มสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม แยกตัวมาพร้อมกับสมาชิกในกลุ่ม 15 คน หลังเข้าสังกัดไทยรักไทย ต่อมาสุวิทย์ แยกตัวออกจากไทยรักไทย โดยร่วมกับ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายพินิจ จารุสมบัติ และ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ หรือ “กลุ่มวังพญานาค” ได้ก่อตั้ง “กลุ่มแนวร่วมสมานฉันท์” ขึ้น ต่อมานายสุวัจน์ และ นายพินิจ จารุสมบัติ ถูกวินิจฉัยใน “คดียุบพรรค” ทำให้ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

 

“กลุ่มบุรีรัมย์” มี เนวิน ชิดชอบ เป็นแกนนำ เนวิน เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ลาออก 23 กรกฎาคม 2547 เพื่อเข้าพรรคไทยรักไทย ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และได้เก้าอี้รมช.เกษตรฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯ

 

“กลุ่มชลบุรี” มี สนธยา คุณปลื้ม เป็นแกนนำ ย้ายจากพรรคชาติไทย มาซบไทยรักไทย เป็นกรรมการ บริหารพรรค ปัจจุบันอยู่กับ พปชร.

 

และ “กลุ่มพลังธรรม” มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำ ส่วนใหญ่เป็นส.ส.กทม. และไม่สังกัดกลุ่มใด

 

จาก “ไทยรักไทย” มาถึง “พลังประชารัฐ” การเมืองไทยก็ยัง Old Normal อยู่เหมือนเดิม 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,586 หน้า 12 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน 2563