ญี่ปุ่นเปิดตลาดบริการให้ไทยมีผลส.ค.นี้

18 มิ.ย. 2563 | 08:51 น.

พาณิชย์ ชี้ ญี่ปุ่นให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่ 1 แก้ไขความตกลง AJCEP ฉบับปัจจุบัน เพิ่มเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ชี้ผู้ประกอบการไทยถือหุ้นได้ 100% ในสาขาบริการ เช่นโฆษณา ร้านอาหาร จัดประชุม จัดทัวร์และนำเที่ยว เชื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นได้ แนะนักลงทุนใช้ประโยชน์จากความตกลงขยายตลาดเพิ่ม

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ญี่ปุ่นได้ให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) ส่งผลให้พิธีสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 โดยพิธีสารฉบับนี้ เป็นการขยายความตกลง AJCEP ฉบับปัจจุบัน ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งครอบคลุมเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้าเป็นหลัก ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนด้วย

ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะเปิดตลาดการค้าบริการให้ไทย ในสาขาที่ไทยสนใจและมีศักยภาพ และเปิดมากกว่าที่ญี่ปุ่นเคยให้ไทยในองค์การการค้าโลก (WTO) และในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถถือหุ้นได้ 100% ในสาขาบริการ เช่น โฆษณา ร้านอาหาร จัดประชุม จัดทัวร์และนำเที่ยว สปา โรงแรม จัดเลี้ยง บริการด้านการแพทย์และทันตกรรม วิชาชีพพยาบาล บริการคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น และบริการอื่นๆ อาทิ บริการซักล้างทำความสะอาด บริการซักผ้า/รีดผ้า บริการทำผมและเสริมสวย รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา หรือการเข้าไปทำงานในญี่ปุ่น ได้อนุญาตเป็นการชั่วคราวกับผู้ให้บริการ นักลงทุน และคู่สมรส รวมถึงบุตร จากอาเซียนเข้าไปให้บริการในกลุ่มสาขาและประเภทที่ระบุไว้ได้ยาวนานสูงสุดถึง 5 ปี

ญี่ปุ่นเปิดตลาดบริการให้ไทยมีผลส.ค.นี้

ขณะเดียวกันไทยได้เปิดตลาดให้ญี่ปุ่น อาทิ ด้านพยากรณ์อากาศและอุตุนิยมวิทยา บริการด้านการวิจัยและพัฒนา บริการล่ามและแปลเอกสาร บริการให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์โดยนักวิทยาศาสตร์และนักสถิติ โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นสามารถถือหุ้นได้ 70% ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกมาตรฐานภาคบริการของไทยได้

สำหรับพิธีสารฉบับที่ 1 จะเริ่มบังคับใช้ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศอาเซียนที่ให้สัตยาบันแล้ว ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เมียนมา และสปป. ลาว ส่วนประเทศอาเซียนที่เหลือ จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประเทศเหล่านี้ให้สัตยาบัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าพิธีสารฉบับใหม่นี้ จะช่วยขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนของไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญของอาเซียนและไทย

 

ทั้งนี้ ในปี 2562 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 224,669 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 109,134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 115,535 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน มีการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นไปอาเซียน มูลค่า 34,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 57,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 24,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 33,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมาไทย มูลค่า 5,133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ