“ชุมชนประชาสงเคราะห์” ร่อนหนังสือร้อง “คมนาคม” เหตุ “สายสีส้มตะวันตก” รุกพื้นที่

17 มิ.ย. 2563 | 11:12 น.

ชุมชนแม่เนี้ยว(ประชาสงเคราะห์) ยื่นหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม หลังรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกรุกล้ำพื้นที่ชุมชน กระทบ 320 ครัวเรือน ส่อเวนคืนที่ดิน วอน รฟม.นัดหารือชุมชน

นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนนายถาวร เสนเนียม  รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม รับหนังสือจากนายประทีป นิลวรรณ ประธานชุมชนแม่เนี้ยว(ประชาสงเคราะห์) และคณะ เรื่องชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ช่วงที่จะผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์(แม่เนี้ยว )และชุมชนชานเมือง

 

ทั้งนี้ชาวบ้านได้นำเอกสารมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.)ได้เห็นชอบเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ตามที่บริษัทที่ปรึกษาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)นำเสนอว่า เป็นเส้นทางที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเส้นทางดินแดง-พระราม9 กว่า 4 พันล้านบาทนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ได้ทำประชาพิจารณ์ไว้กับชาวบ้าน โดยเป็นข้อมูลที่สลับกัน ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 320 ครัวเรือน ซึ่งไม่ใช่ 184 ครัวเรือนเหมือนที่ รฟม.นำเสนอ เกิดความไม่สบายใจและวิตกกังวลว่าจะถูกเวนคืน และได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จึงเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมช่วยสั่งการให้รฟม.พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ ดังนั้นตนจึงรับเรื่องไว้และจะส่งให้นายถาวร พิจารณาก่อนสั่งการให้รฟม.ดำเนินการ พร้อมเจรจากับชาวบ้าน และชี้แจงให้เข้าใจตรงกัน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นายประทีป  นิลวรรณ ประธานชุมชนแม่เนี้ยว(ประชาสงเคราะห์)  กล่าวว่า  ชาวบ้านยังคงเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมสั่งการ รฟม.พิจารณาทบทวนเปลี่ยนแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงที่จะผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ และชุมชนชานเมือง ซึ่งยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)  ไปใช้เส้นทางดินแดง-พระราม 9 ที่ผลการศึกษาของ รฟม.ระบุว่ามีการเวนคืนน้อยกว่า หรือไปใช้ถนนของกรุงเทพมหานครสาย ง13แทน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและลดการเวนคืนซับซ้อนด้วย

หากในที่สุดแล้ว รฟม.ยังยืนยันที่จะใช้เส้นทางผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ชาวบ้านก็ยืนยันที่จะไม่ย้ายออกเด็ดขาด และเรียกร้องให้ก่อสร้างด้วยการใช้หัวเจาะอุโมงค์ และใช้การรอนสิทธิแทนการเวนคืน  เพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบสามารถอยู่อาศัยได้ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง เพราะเวลานี้ชาวบ้านทุกข์ใจมากว่าจะถูกเวนคืน อย่างไรก็ตามชาวบ้านไม่ได้คัดค้านไม่ให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ขอให้เห็นใจผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ทางชุมชนต้องการให้รฟม.จัดประชุมใหญ่ร่วมกับชาวบ้านทุกครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่เฉพาะแกนนำเท่านั้น เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันก่อนดำเนินโครงการต่อไป