โบรกชี้การเมืองวุ่นไม่กระทบหุ้น

18 มิ.ย. 2563 | 00:20 น.

“ไพบูลย์”เผยการเมืองไทยส่อเค้าวุ่นวายไม่กระทบ เสถียรภาพ และตลาดทุน หลังฝั่งรัฐบาลยังเหนียวแน่นจากเสียงข้างมากที่เพิ่มขึ้น ด้านโบรกมองไม่เกี่ยวกลุ่มมีอำนาจ ชี้นิรโทษกรรมการเมืองช่วยปลดล็อกทำงานร่วมกัน

กระแสความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันที่ก่อตัวอย่างเงียบๆ ถูกกลบด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากเป็นช่วงสถานการณ์ปกติ อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นสั่นคลอนได้ จากในอดีตที่ผ่านมา การเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน โดยดัชนีหุ้นไทยปรับลดถึง 4 ครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ 1 วัน จากทั้งหมด 5 เหตุการณ์ใหญ่ โดยเฉพาะการชุมนุมของนปช. ที่ถนนราชประสงค์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 ปรับลดลง 3.53% ขณะที่ การทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.16%

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ประเด็นความวุ่นวายของการเมืองในช่วงนี้ มองว่าไม่มีผลกระทบต่อตลาดทุนมากนัก เนื่องจากนักลงทุนให้นํ้าหนักที่นโยบายและเสถียรภาพมากกว่า โดยตอนนี้เสียงทางฝั่งรัฐบาลมีเกินกว่าครึ่งและมากกว่าตอนที่เริ่มจัดตั้งใหม่ค่อนข้างมาก หากนโยบายของรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เชื่อว่าจะไม่มีความน่าวิตกกังวลใดๆ นอกจากนี้ หากมีการเปลี่ยนบุคลากร ก็คาดว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่มีผลใดๆ ต่อเสถียรภาพการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ในด้านของกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่ผ่านมามีการไหลออกค่อนข้างมากจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาปัจจัยภายนอกค่อนข้างมากทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้เกิดปัญหาส่งออกไม่ได้ และนักท่องเที่ยวเดินทางไม่ได้ จึงมีความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นตัวได้ช้า และไม่เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการชดเชยด้านการส่งออกและท่องเที่ยว

โบรกชี้การเมืองวุ่นไม่กระทบหุ้น

แหล่งข่าวจากบล.ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งทางฝั่งรัฐบาลในช่วงนี้ มองว่าไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงความขัดแย้งในพรรค ไม่ได้เกี่ยวกับกลุ่มที่มีอำนาจ เพราะทางฝั่งร่วมรัฐบาลยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ อีกทั้งฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อให้มีความสั่นคลอนได้ แต่ต้องจับตาที่กระทรวงใหญ่อย่างกระทรวงพลังงานหากไม่มีการเปลี่ยน แปลงใดๆ ถือเป็นสัญญาณที่ดี 

อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงคาดว่า จะเริ่มมีปัญหา เนื่องจากเป็นกระทรวงที่มีเรื่องเกี่ยวกับรายได้ที่ค่อนข้างสูง นอกจากนั้น หากมีการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการเมือง มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการปลดล็อก เพื่อให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามได้สามารถทำงานร่วมกันได้ หากมีการดึงเป็นรายบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาร่วมคณะทำงาน

ทั้งนี้ ในด้านของการดำเนินนโยบายคาดว่า จะไม่มีปัญหาด้านเสถียรภาพใดๆ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากพ.ร.ก.ที่ออกมาในช่วงหลังจำนวน 400,000 ล้านบาท แต่ละหน่วยงานมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าจะนำไปใช้อย่างไร จึงเชื่อว่าจะยังมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน คาดว่าในช่วงต้นปี 2564 อาจจะมีประเด็นทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง

สำหรับหุ้นที่มีความสัมพันธ์กับการเมือง โดยพรรคภูมิใจไทย คือ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก “ตระกูลโสภณพนิช” ผู้ก่อตั้ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) รวมถึงยังถือหุ้นใหญ่ในบมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA), บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI), บมจ.ดุสิตธานี (DTC), บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH), บมจ.กรุงเทพโสภณ (KWC) และ บมจ.ไทยโทเรเท็กซ์ไทล์มิลลส์ (TTTM)

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย” มีคนในตระกูล “ชินวัตร” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารคือ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) และบมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) รวมถึงตระกูล “เอื้ออภิญญกุล” ที่สนับสนุน ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บมจ.บ้านปู (BANPU) และตระกูล “มหากิจศิริ” ถือหุ้นในบมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA), บมจ.ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ (TFI), บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS), บมจ.ซัสโก้ (SUSCO), พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA), บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) และ บมจ.ไทย โอ.พี.พี. (TOPP) 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563