ธปท.แนะคุมเสี่ยงบาท ชี้มีโอกาสกลับทิศ

15 มิ.ย. 2563 | 00:00 น.

ธปท.แนะป้องกันเสี่ยง "อัตราแลกเปลี่ยน" เหตุ ค่าเงินบาท ยังเคลื่อนไหว 2ทิศทางและอาจกลับทิศ หลั 2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มแข็งค่าขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าโครงการทดลองซื้อ Option กว่า 1,200 ราย ครอบคลุมมูลค่าส่งออกนำเข้า 3,600 ล้านบาท จากผู้เข้าอบรมกว่า 3,800 ราย พบ 5 ปี คู่ค้าในอาเซียนชำระเงินสกุลบาทเพิ่มทั้งกัมพูชา-สปป.ลาว ชี้แนวโน้มกัมพูชา เมียนมา มีสัดส่วนเพิ่มต่อเนื่อง  

ตั้งแต่สิ้นเดือนพฤษภาคมจนถึงล่าสุด 11 มิถุนายน 2563 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.71% แข็งค่าเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากเงินรูเปียของอินโดนีเซียและเงินวอนของเกาหลีใต้ สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากเทียบตั้งแต่สิ้นปี 2562 พบว่า เงินบทอ่อนค่าลง 3.25% อ่อนค่าเป็นอันดับ 4 รองจาก เงินรูปีอินเเดีย ริงกิตมาเลเซียและวอนเกาหลีใต้ 

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกและของไทย อาจส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมํ่าเสมอ และควรกระจายสกุลเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงการอิงกับสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เพียงสกุลเดียว โดยเฉพาะหากเป็นการซื้อขายระหว่างกันเองในภูมิภาค การเลือกเงินสกุลเพื่อกำหนดราคาสินค้าในสกุลที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันจะมีโอกาสช่วยลดความผันผวนของรายรับในสกุลบาทได้

ธปท.แนะคุมเสี่ยงบาท ชี้มีโอกาสกลับทิศ

นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทเริ่มกลับมาปรับแข็งค่าขึ้น จากการใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกและสถานการณ์แพร่ระบาดของ
โควิด-19 ในไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ แต่เงินบาทจะยังเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทางทั้งอ่อนและแข็ง และอาจเคลื่อนไหวกลับทิศได้ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด และสภาวะตลาดการเงินโลกที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเศรษฐกิจของไทยที่ยังเปราะบางจากผลกระทบของ
โควิด-19 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวไม่ได้เร็วนัก ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 2 ในระยะต่อไป 

ส่วนความคืบหน้าโครงการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(FX option) ของ SMEs ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปีก่อน  แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสนับสนุน SMEs ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ” โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบการเข้า
ร่วมโครงการต้องเป็นสมาชิกสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าและต้องมีรายได้ตามนิยามเอสเอ็มอีของสสว.(ตามงบการเงินปี 2561 หรือ 2562 โดยเลือกใช้ตัวเลขของปีที่รายได้น้อยกว่า) คือ ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี, ภาคการค้า/ภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี

สำหรับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมอบรมการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและความรู้เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและจัดทำแบบประเมินลูกค้าครบถ้วน จะได้รับวงเงินสนับสนุนรายละ 100,000 บาท ต่อรายนิติบุคคล เพื่อนำไปทดลองซื้อ options ได้ 80,000 บาท และขอคืนค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ(Trade-related fees)ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งคาดว่า จะสามารถเริ่มโครงการได้ 1 กรกฎาคม 2563 แต่ผลกระทบจากโควิด-19 จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรมผ่าน e-Learning ก่อน โดยสิทธิการได้รับวงเงิน เป็นไปตามหลักการมาก่อนได้ก่อน ซึ่งมีงบประมาณที่สามารถรองรับผู้ประกอบการได้ 2,000 ราย สามารถลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ของ EXIM bank (www.EXIM.go.th)

ขณะที่การดำเนินโครงการ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 3,800 รายและมีผู้ประกอบการทดลองซื้อ options เพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 1,200 ราย ซึ่งครอบคลุมมูลค่าการส่งออก-นำเข้าถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 3,600 ล้านบาท 

สำหรับผลการใช้เครื่องมือ กำหนดราคาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่ใช้ค้าขายแทนสกุลเงินดอลลาร์นั้น แม้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศมากที่สุด แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า มีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 สกุลเงินที่ไทยใช้ค้าขายกับคู่ค้าทั่วโลกสูงสุด 3 อันดับแรกคือ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ,เงินบาท,และเงินเยน และพบว่า ผู้นำเข้าชาวไทยซื้อสินค้าจากจีน โดยชำระด้วยเงินหยวนมากขึ้น 

นอกจากนั้นแนวโน้มการชำระเงินเป็นสกุลบาทกับประเทศคู่ค้าอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะปรับลดลงบ้างในไตรมาสที่ 1 ของปี2563 แต่หากดูเป็นรายประเทศพบว่า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากใน
บางประเทศคือ กัมพูชาและเมียนมา 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563