“วิชา มหาคุณ” สอนมวย ป.ป.ช.รุ่นน้อง "นาฬิกาเพื่อน-รถยืม" เรื่องของผลประโยชน์ ?

05 มิ.ย. 2563 | 09:04 น.

“วิชา มหาคุณ” สอนมวย ป.ป.ช.รุ่นน้อง นาฬิกาเพื่อน-รถยืม ชี้ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของการยืมใช้คงรูป แนะ กระบวนการตรวจสอบการทุจริตต้องมองภาพรวม มองเรื่องของการได้รับประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินหรือไม่?

เรื่องของ “นาฬิกายืมเพื่อน” ยังเป็นเรื่องที่สังคมกังขาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตรวจสอบของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เมื่อมีมติไม่ชี้มูลความผิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานไม่แจ้งทรัพย์สินในมูลค่านาฬิกาหรูที่มาจากการยืม เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ในหนังสือชี้แจงส่งถึง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ที่ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.ขอให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ ยืนยันว่า   

“การยืมใช้ ดังกล่าวเป็นการยืมใช้คงรูป และการยืมใช้คงรูป แม้เป็นหนี้ แต่มิใช่หนี้สินตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องแสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะตามคำอธิบายการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินท้ายแบบรายการหนี้สินล้วน หมายถึง หนี้สินที่เป็นเงินตราเท่านั้น มิใช่เป็นการยืมใช้สอยได้เปล่าและมีการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืม ดังนั้น พล.อ.ประวิตร จึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงการยืมนาฬิกาดังกล่าวเป็นหนี้สินในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน” หนังสือที่ลงนามโดย นายสุกิจ บุญไชย ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุ

ตอนหนึ่งในรายการ Newstalk ตัวจริงเสียงจริง ตอนที่ 3 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2020 ช่วงสัมภาษณ์ ศ.วิชา มหาคุณ อดีตมือปราบ ป.ป.ช.ให้ข้อสังเกตและความเห็นเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า     

ในกฎหมาย ป.ป.ช. มิได้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนถึงขนาดว่า ถ้าเป็นการยืมใช้คงรูปแล้วไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อปปช. แต่เป็นเรื่องของการตีความซึ่งอาจเป็นทางเจ้าหน้าที่ที่เห็นว่า เมื่อไม่มีถ้อยคำที่เขียนอยู่ในแบบไว้ให้ก็ไม่ต้องยื่นแสดงในแบบบัญชี  และเนื่องจากไม่เคยเรื่องลักษณะนี้มาก่อนที่จะมีการยืมนาฬิกากัน ทั้งยังมีราคาที่สูงมาก เพราะใครจะไว้วางใจกันถึงขนาดให้หยิบยืมกัน ดังนั้น กรณีของรายนี้จึงมีลักษณะเป็นเคสตัวอย่าง

แต่มีปัญหาว่า แล้วจะไปกำหนดหรือคิดขึ้นมาเองได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เรื่องนี้ต้องใช้วิธีการประชุมและลงมติโหวตว่า กรณีเช่นนี้ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนจำเป็นที่จะต้องให้ท่านยื่นหรือไม่ อย่างไร

“สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมเห็น และมองว่า มีความจำเป็น ก็คือ ข้อเท็จจริงมันต้องยุติก่อนว่า มีการยืมจริงหรือไม่ สำหรับกรณีนี้ยังไม่ชัดเจนเพราะเรากำลังจะไปสู่ข้อกฏหมายว่า ยืมใช้คงรูปนั้น ไม่ต้องยื่น หรือ อย่างไร ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องได้ข้อยุติเรื่องนี้ก่อนว่า เป็นการยืม และยืมใช้คงรูป เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องนี้ทาง ป.ป.ช. โดยฝ่ายเลขาธิการก็อาจจะต้องชี้แจงประเด็นนี้ให้ชัดเจนว่า เป็นการยืมกันจริงๆ และได้มีการตรวจสอบครบถ้วนแล้ว มีพยานหลักฐานยืนยัน และในแง่ของการยืมนั้น ทางปปช.ก็เห็นสมควรว่า  เมื่อไม่ได้มีการเขียนเอาไว้ก็ถือว่า ไม่ต้องยื่น

 แต่อย่างไรก็ดี ในตัวของกระบวนการตรวจสอบนั้นในการยื่น หรือไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินรายการนี้นั้น สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ การที่จะต้องตรวจสอบต่อไปว่า เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ อย่างไรด้วย เพราะถ้ามันมีข้อสังเกตในแง่ที่ว่า ไม่ใช่เรื่องของการยืม มันก็จะนำไปสู่การตรวจสอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ประพฤติมิชอบ ซึ่งมันจะขยายออกไป

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของการยืมใช้คงรูป มันก็เลยอาจทำให้เกิดความไขว้เขว ทางด้านของการจัดการคดีทุจริตต่างๆ เพระว่ากระบวนการในการตรวจสอบการทุจริตนั้นมันจะต้องให้เห็นภาพรวมอันหนึ่งว่า เรื่องของการยืม หรือไม่ยืมนั้น มันเป็นเรื่องของการได้รับประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญ

ผมคิดว่า ระบบการของการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ที่ว่าเพื่อการตรวจสอบที่ลึกกว่าเดิม ไม่ใช่แค่เรื่องของการยื่นหรือไม่ยื่นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตามมาด้วยได้ หรือเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น กระบวนการในการตรวจสอบจึงต้องค่อนข้างใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมันจะเป็นผลกระทบถึงการตรวจสอบในคดีอื่นด้วย

เช่นเดียวกับกรณีของการยืมรถของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่มีการอ้างว่า ยืมรถจากเพื่อน ซึ่งกรณีนี้ ป.ป.ช.ไม่เชื่อ ตีความว่า เป็นการให้ใช้ประโยชน์ โดยมีการอ้างว่า ยังมีการยืมใช้อยู่ ซึ่งถือว่า เป็นทรัพย์ของคนนั้นแล้ว   

ถามว่า ทั้งสองเคสนี้สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้หรือไม่นั้น ศ.วิชา กล่าวว่า ยังไม่อาจเทียบกันได้ เนื่องจากกรณีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม นั้น มีการไต่สวนและได้ข้อยุติแล้วว่า รถคันดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้ยืม

ดังนั้น จึงต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดก่อน ถ้ามีการไต่สวนไปแล้ว ตามขั้นตอนกระบวนการแล้วมีหลักฐานว่า เขายืมกันมาจริง เรื่องก็จบ ก็สามารถที่จะอ้างได้ว่า ไม่มีปรากฏอยู่ในหลักฐานในเรื่องของการยืมใช้คงรูป และไม่ได้อยู่ในแบบของบัญชีการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อปปช.